นครราชสีมา-อบจ.โคราชเผยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังไม่ยืนยันการจองวัคซีนซิโนฟาร์มของท้องถิ่น ระบุระเบียบของราชวิทยาลัยฯ ขัดต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายวีระชาติ ทุ่งไผ่แหลม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.) เปิดเผยว่า ทาง อบจ.นครราชสีมาได้ทำการสั่งจองวัคซีนไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จำนวน 1 แสนโดส แต่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยังไม่ได้ยืนยันการจองของทาง อบจ.นครราชสีมา นอกจาก อบจ.นครราชสีมาแล้วยังมีอีกหลายท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับการจองเช่นกัน การใช้งบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนจำนวน กว่า 88 ล้านบาทนั้น ทาง อบจ.นครราชสีมาไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะตามระเบียบสามารถใช้เงินสะสมในการดำเนินการได้
ทั้งนี้ ทาง อบจ.นครราชสีมามีเงินสะสมเพียงพอที่จะดำเนินการ แต่ตอนนี้ติดที่ขั้นตอนของทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง ซึ่งมีขั้นตอนที่ขัดต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างอยู่ นั่นคือ ครั้งแรกที่ทางราชวิทยาลัยฯกำหนดว่าจะต้องมีการบริจาค 10 เปอร์เซ็นต์ กลับคืนให้กับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะนำไปจัดสรรให้กับผู้ด้อยโอกาส ตรงนี้เป็นการขัดต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของท้องถิ่น หากซื้อจำนวน 100,000 โดส และบริจาคคืนกลับไป 10,000 โดส ทางท้องถิ่นจะได้วัคซีนเพียง 90,000 โดส ก็จะเท่ากับว่าท้องถิ่นได้วัคซีนไม่ครบ พอได้ของไม่ครบคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างก็มีปัญหาทันที เรื่องนี้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำลังพิจารณาปรับแก้ให้กับทางท้องถิ่นอยู่
ด้านนายกอบชัย บุญอรณะผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงการสั่งจองวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 1 แสนโดส จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่า ต้องรอการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก่อน ส่วนตัวคิดว่าราชสิทยาลัยจุฬาภรณ์คงต้องแจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่างๆ ก่อน อีกส่วนค่อยดำเนินการจัดสรรให้ท้องถิ่นตามลำดับ และเมื่อได้วัคซีนมาแล้วทางจังหวัดก็จะดำเนินการจัดสรรให้แต่ละอำเภอต่อไป แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้จำนวนกี่โดสตามที่จองไป ในจังหวัดนครราชสีมามีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 2 ยี่ห้อ ผลของการฉีดเป็นไปด้วยดี ยังไม่มีประชาชนหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีนมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด และหวังว่าจะได้รับวัคซีนเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาประชาชนได้รับวัคซีนไปแล้ว ประมาณ 240,000 คน คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชาชนทั้งจังหวัด แผนการในการฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคม ตั้งเป้าไว้ 70,000 คน ที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีน สำหรับพื้นที่ที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังจากการเดินทางเข้ามาในพื้นที่ ทั้งในส่วนของประชาชนและแรงงาน คงเป็นในพื้นที่อำเภอใหญ่ๆ ที่น่าเป็นห่วง เช่น อ.เมือง อ.โชคชัย อ.โนนสูง อ.สีคิ้ว อ.ปากช่อง ดังนั้นจึงต้องมีการคุมเข้มมาตรการอย่างจริงจังสำหรับประชาชน แรงงานที่เดินทางมาทั้งจังหวัด