นายอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ขยายผลกิจกรรม ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารสู่เป้าหมาย “แก้ได้ หายจน ชีวิตมั่นคง ครอบครัวมั่งคั่ง ชุมชนยั่งยืน”
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นายภิญโญ พัวศรีพันธุ์ นายอำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ องค์การบริหารส่วนตำบลนครเดิฐ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้ นายอดุลย์ ขวัญนาค นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนครเดิฐ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดและขยายผลกิจกรรมการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกิจกรรมฯ ด้วยการลงมือปลูกผักสวนครัว และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างสร้างคลังอาหาร เป็นต้นแบบให้กับข้าราชการ ประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีนคร โดยมีเมล็ดพันธุ์ผักที่ปลูกได้แก่ พริกขี้หนู โหระพา กะเพรา สะระแหน่ คะน้า กวางตุ้ง แคแคระ กะหล่ำปลี ผักบุ้ง มะละกอ ตะไคร้ เป็นต้น โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น ครัวเรือนต้นแบบฯ CLM และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) เข้าร่วมกิจกรรม ณ องค์การบริหารส่วนตำบลนครเดิฐ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย
นายภิญโญ กล่าวว่า จะบูรณาการทุกหน่วยงาน ร่วมกันรณรงค์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีนคร ได้ตระหนักในเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีผักสวนครัวที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีปลูกไว้รับประทานเองภายในครัวเรือน และจะขยายผลดำเนินการตลอดทั้งปี 2564 เป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ ประชาชนทุกครัวเรือน หันมาปลูกผักสวนครัว และพึ่งพาตนเอง โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ เพื่อให้รอดพ้นวิกฤตปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 ได้ สร้างพลังความต่อเนื่องในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ เป้าหมายดำเนินการในทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือน
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุโขทัย โดยนายธวัช ใสสม พัฒนาการจังหวัดสุโขทัย มอบหมายนายสมพงษ์ หมื่นเข็ม พัฒนาการอำเภอศรีนคร ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวฯ อย่างต่อเนื่อง โดยมี”ธนาคารพอเพียง” ในทุกหมู่บ้านเป็นศูนย์กลาง แหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน พันธุ์ผัก กล้าพันธุ์ไม้ เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพึ่งตนเอง และนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร อย่างยั่งยืนต่อไป