นนทบุรี-สสส.ร่วมพัฒนาโมเดลนำร่อง“รพ.บางบัวทอง 2” ต้นแบบโรงพยาบาลที่เอื้อให้เกิดสุขภาวะในระดับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วม ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เปิดพื้นที่สาธารณะให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์
นพ.กวิตม์ ซื่อมั่น ผอ.โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 เปิดเผยว่า โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 เป็นโรงพยาบาลชุมชนที่เปิดให้บริการพื้นฐานทั่วไป การที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลร่วมโครงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลที่เอื้อให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระดับชุมชน โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ช่วยตอบโจทย์การขยายบริการสุขภาพที่ไม่ใช่รักษาอย่างเดียว ซึ่งโรงพยาบาลมีความพร้อมเรื่องพื้นที่อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้ออกแบบหรือพัฒนาทางกายภาพให้มีความสวยงามเป็นมิตรกับผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ รูปแบบที่นำเสนอนั้น มีการจัดสรรพื้นที่กึ่งสาธารณะ ประกอบด้วย 3 ส่วน 1.บริเวณด้านหน้าออกแบบเป็นสวนสาธารณะสำหรับออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพที่ปกติจะมีชาวบ้านมาออกกำลังกายอยู่แล้ว โดยปรับให้เหมาะกับรูปแบบกิจกรรมมากขึ้น 2.ปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการรักษา ซึ่งบริบทเดิมมีความแข็ง ไม่เป็นมิตร 3.ที่พักเจ้าหน้าที่ สนับสนุนให้บุคลากรมีพื้นที่ในการปลูกผักกินเอง สำหรับการปรับปรุงโรงพยาบาลได้ขออนุมัติดำเนินการตามแผนพัฒนาโรงพยาบาลเป็นเฟส ๆ คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงจะแล้วเสร็จ
“การปรับปรุงภูมิทัศน์ช่วยให้ ทั้งแพทย์ พยาบาล มีความสุขในการทำงานมากขึ้น ผู้มาใช้บริการไม่ต้องเจ็บป่วยก็มาใช้บริการที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งการที่โรงพยาบาลและชุมชนมีความใกล้ชิดมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ ทำให้เมื่อมีโควิด-19 ระบาด เราจะเข้าใจกันได้ง่าย เพียงลงพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชี้แจงความจำเป็นคืออะไร เกิดอะไรขึ้น ซึ่งเขารับฟัง ลดปัญหาไม่เข้าใจ หรือการตีตรา” นพ.กวิตม์ กล่าว
ด้าน นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า โครงการฯ นี้มีหลักการที่ดี การจัดบริการดูแลผู้ป่วยเป็นหนึ่งในงานมาตรฐานของสถานพยาบาล คือ สะดวก เข้าถึงง่าย ผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจ มีอาคารสถานที่ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้บริการ คนที่เจ็บป่วยได้รับบริการดีขึ้น ดังนั้น โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 จึงถือเป็นต้นแบบที่ดีในการพัฒนาโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับทุกคน ซึ่งในบางโรงพยาบาล หากไม่ได้วางทิศทาง หรือไม่มีแผนแม่บทปรับภูมิทัศน์ไว้ก่อน เมื่อได้งบประมาณก็ค่อยทำไปทีละอย่างสองอย่าง ต้องทุบต้องปรับทำให้เสียงบประมาณซ้ำซ้อน ซึ่งหลายโรงพยาบาลยินดีมากที่จะได้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมวางแผนพัฒนาพื้นที่ให้โรงพยาบาล โครงการฯ นี้ จึงน่าจะขยายผลไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ที่สนใจได้
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า สสส. ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ และภาคีพื้นที่สุขภาวะ ดำเนินโครงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาต้นแบบโรงพยาบาลที่เอื้อให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระดับชุมชน โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 โดยได้จัดกระบวนการมีส่วนร่วมผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่างแบบปรับปรุงโรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ตามแนวทางโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสุขภาวะ พร้อมกับเป็นพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพให้ชุมชน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 1.การเป็นโรงพยาบาลที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาทางจิตใจ
“แม้กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย” 2.เป็นต้นแบบโรงพยาบาลที่เอื้อให้เกิดพื้นที่สุขภาวะในระดับชุมชน และ 3.เป็นโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับภารกิจของโรงพยาบาล “ขณะนี้การออกแบบแล้วเสร็จเป็นแผนผังแม่บท (Master Plan) เน้นการปรับพื้นที่ทางกายภาพ จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อระบบบริการภายในอาคาร ปรับภูมิทัศน์มีพื้นที่สาธารณะที่ร่มรื่น โดยปลูกต้นไม้ให้เป็นปอดของชุมชน จัดบริเวณลานจอดรถเพื่อออกกำลังกาย ฯลฯ ทั้งหมดผ่านกระบวนการชุมชน มีการพูดคุยความต้องการของทั้งชาวบ้าน และบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลเป็นจุดเชื่อมกับชุมชนในมิติต่างๆ ไม่ใช่บริการทางการแพทย์เท่านั้น” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว