THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

13 พฤษภาคม 2564 : 13:58 น.

สสส.จับมือ สสย.-นิเทศฯ นิด้า เผยผลสำรวจเด็กไทยเริ่มท่องโลกออนไลน์ตั้งแต่ 2 ขวบ หนักสุดช่วงโควิด-19 เล่นอินเทอร์เน็ตนาน 8 ชม./วัน ห่วงรู้ไม่เท่าทันขาดทักษะเกิดผลกระทบพัฒนาการระยะยาว 

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และจัดการประชุมเพื่อนำเสนอผลการวิจัย ภายใต้โครงการการศึกษาการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ร่วมประชุมเพื่อศึกษาผลกระทบจากการใช้สื่อออนไลน์ในช่วงการระบาดของโควิด-19

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการเปิดการประชุมว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เด็กต้องใช้ชีวิตในบ้านเพื่อปรับตัวเรียนผ่านระบบออนไลน์ จึงทำให้มีโอกาสใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น ปัญหาสำคัญในการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กคือ ใช้สื่ออย่างไม่รู้เท่าทัน ขาดการยับยั้งชั่งใจ เสี่ยงต่อการได้รับกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ เข้าถึงสื่อการพนัน สื่อที่มีเนื้อหารุนแรง หยาบคาย และลามกอนาจาร ทำให้เกิดผลเสียทั้งสุขภาพกายและจิตใจ ส่งผลต่อพัฒนาการเรียนรู้ในระยะยาว จึงควรปลูกฝังเด็กไทยรู้เท่าทันสื่อ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สู่การเป็น “พลเมืองดิจิทัล” เท่าทันตนเอง มีความรับผิดชอบต่อสังคม และพัฒนาปัจจัยแวดล้อมทั้งพื้นที่สร้างสรรค์ ช่องทางสื่อ การสนับสนุนการจัดการความรู้ งานวิชาการ และการพัฒนานโยบาย เพื่อนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาวะ

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส.ได้สานพลังร่วมกับ สสย. และ คณะนิเทศศาสตร์ นิด้า ทำการสำรวจการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต เดือนมกราคม 2564 มีกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเด็กมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-6 อายุ 13-19 ปี รวม 542 คน และ 2.กลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรหลานศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–6 อายุ 6-12 ปี รวม 403 คน ผลสำรวจพบว่า กลุ่มเด็กมัธยมมีการเปิดรับสื่อมากถึงวันละ 6-8 ชั่วโมง โดยเป็นการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา 61% ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเข้าสื่อสังคมออนไลน์ เล่นเกม และติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น 39% ที่น่าห่วงคือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ เริ่มอนุญาตให้เด็กใช้สื่อตั้งแต่อายุเพียง 2-3 ปี เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ มีการเริ่มต้นใช้สื่อที่อายุน้อยลง ขณะเดียวกันเนื้อหาสื่อยังมีช่องว่างในการพัฒนาเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ด้านบวกให้กับเด็กเยาวชน

“ผลการสำรวจนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย จะนำไปพัฒนาระบบนิเวศสื่อ ผลิตสื่ออย่างมีความผิดชอบต่อเด็ก กระตุ้นให้เด็กไทยเกิดความฉลาดทางดิจิทัล สามารถใช้สื่อได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3 ทักษะ คือ 1.ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ สมรรถนะด้านการคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ไขปัญหา การสื่อสารและการประสานความร่วมมือ 2.ทักษะด้านข้อมูล สื่อ และเทคโนโลยี คือ การรู้เท่าทันสื่อ และ 3.ทักษะชีวิตและการทำงาน ได้แก่ ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ รวมถึงริเริ่มและการกำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ตัวเองได้” ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าว

ศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ผลสำรวจการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กและเยาวชนไทยในอนาคต ยังพบว่า ผู้ปกครองอนุญาตให้ลูกใช้สื่อออนไลน์วันละ 1-3 ชั่วโมง สูงถึง 77.67% รองลงมา คือ 4-6 ชั่วโมง 16.13% และ 7 ชั่วโมงขึ้นไป 11.91% โดยพบว่า ยิ่งเด็กและเยาวชนยิ่งโตมากขึ้น หรืออยู่ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะใช้สื่อออนไลน์นานขึ้น ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา คือ การขาดประสบการณ์ การอยู่ในวัยที่ใจร้อน การขาดสื่อคุณภาพดี พ่อแม่ผู้ปกครอง โรงเรียน ขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแล ส่งผลกระทบในทางลบที่เกิดกับเด็กและเยาวชน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่นสายตาสั้น สมาธิสั้น การควบคุมอารมณ์ อาการซึมเศร้า รวมไปถึงการดำเนินชีวิต

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว นิเทศฯ นิดา จึงร่วมกับ สสส. และภาคีเครือข่าย พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการใช้สื่อดิจิทัลของเด็กไทย คือ 1.กระทรวงศึกษาธิการ ควรจัดทำค่ายเพื่อปลูกจิตสำนึกเยาวชน จัดทำสื่อเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ 2.โรงเรียน ควรจัดทำแผนการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในการเรียนการสอนของนักเรียน และ 3.ผู้ปกครอง ควรจัดสภาพแวดล้อมของบ้านให้มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ผลักดันให้เยาวชนเกิดความคิดริเริ่มสิ่งใหม่ และก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพตนเองได้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นแนวทางที่จะเสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทยให้มีทักษะการเป็นผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีความรอบรู้ เท่าทัน และช่วยเสริมสร้างศักยภาพความรู้ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นำไปสู่การเป็น ‘พลเมืองตื่นรู้และนักสื่อสารสุขภาวะ’ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะให้สื่อออนไลน์เป็นพื้นที่สื่อที่สร้างสรรค์

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ