THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

04 พฤษภาคม 2564 : 10:10 น.

สุราษฎร์ธานี-ผู้ว่าฯออกคำสั่งห้ามตั้งวงดื่มสุราตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปรวมถึงรวมกลุ่มรับประทานอาหารด้วย ขณะที่ร้านอาหารให้ปิด 3 ทุ่มตรงเพื่อลดการระบาดของโควิด

เมื่อวันที่ 4 พ.ค.นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ออกคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ 2796/2564 ลงวันที่ 3 พ.ค.64  เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 40)

เนื้อหาในคำสั่ง ระบุว่า ตามที่ได้มีคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรื่อง มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กำหนดมาตรการสำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ และสั่งปิดสถานที่บางประเภทที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีให้ขยายเป็นวงกว้าง ไปแล้ว นั้น

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานียังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสัมพันธ์กับสถานบันเทิง กิจกรรมรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ และแพร่กระจายไปในกลุ่มผู้สัมผัสในครอบครัว กลุ่มเพื่อน สถานที่ทำงาน ซึ่งจากการสอบสวนโรคในระยะที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ หรือผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกันตัวเองเพื่อสังเกตอาการเข้าไปใช้บริการในสถานที่บางประเภทและมีกิจการหรือกิจกรรมบางประเภทที่เป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรค จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และข้อ 7 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548(ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 5 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 ประกอบกับมาตรา 22 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 จึงมีคำสั่ง ดังนี้

ข้อ 1 มาตรการควบคุมทั่วไป 

ก. ห้ามประชาชนรวมกลุ่มตั้งแต่สองคนขึ้นไป ร่วมวงสังสรรค์ ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเคหสถาน ที่พำนัก หรือสถานที่อื่นใด 

ข. ในการจัดกิจกรรมหรืองานต่าง ๆ ห้ามมีให้มีการจัดเลี้ยงอาหารหรือมีการร่วมวงรับประทานอาหาร เว้นแต่เป็นอาหารบรรจุกล่องหรือลักษณะอื่นใดที่สามารถรับประทานใต้เพียงคนเดียวหรือนำกลับไปรับประทานที่อื่นได้ 

ข้อ 2 มาตรการควบคุมกิจการหรือกิจกรรม 

ก. ควบคุมกิจการ ดังนี้ 

- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มและบริโภคภายในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 นาฬิกา โดยผู้ให้บริการต้องมีมาตรการดังต่อไปนี้ 

(1) จัดให้มีการคัดกรองอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าร้าน มีเจลหรือแอลกอฮอล์ ล้างมือ การกำหนดจุดยืนรอคิวชำระเงิน โดยให้กำหนดระยะห่างอย่างน้อยคนละหนึ่งเมตร 

(2) ให้ทำความสะอาดโดยการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ก่อนเปิดให้บริการ และทำความสะอาดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน 

(3) ให้ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าด้วยทุกครั้ง 

(4) ให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ มิให้แออัด และลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงหรือเท่าที่จำเป็น โดยถือหลักการหลีกเสี่ยงการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน 

ข. ควบคุมกิจกรรมทางสังคม ดังนี้ 

(1) งดหรือเลื่อนงานมงคล ได้แก่ งานกฐิน งานผ้าป่า งานประจำปี งานหมั้น งานมงคลสมรส งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานตามประเพณีต่าง ๆ หรืองานอื่นใดในทำนองเดียวกันนี้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับอนุญาตก่อนมีการจัดกิจกรรม และต้องมีผู้ร่วมกิจกรรมไม่เกิน 20 คน โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และให้มีการควบคุม ตรวจสอบ โดยเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือบุคคลที่นายอำเภอมอบหมายการยื่นคำร้องขออนุญาต ให้ยื่นตามแบบคำขออนุญาตแนบท้ายคำสั่งฉบับนี้ต่อนายอำเภอท้องที่หรือผู้ที่นายอำเภอมอบหมาย 

(2) งานศพ ให้มีผู้ร่วมงานใด้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสมกับพื้นที่ โดยรักษาระยะห่างทางสังคมตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ต้องมีผู้ร่วมงานไม่เกิน 50 คน และให้แจ้งการจัดงานต่อบุคคลที่นายอำเภอมอบหมายหรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติตต่อ เพื่อให้มีการควบคุมและตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการ

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ เป็นความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง 

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ