THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

10 กุมภาพันธ์ 2564 : 14:40 น.

รมว.เกษตรฯสั่งเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การตลาดแนวใหม่มอบ”ฟรุ้ทบอร์ด”เดินหน้ากลยุทธ์ระบบ”สั่งซื้อล่วงหน้า”(Pre-Order)บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ระดมทีมอีคอมเมิร์ซกระทรวง

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ แถลงความก้าวหน้าโครงการ”สั่งซื้อผลไม้ล่วงหน้า(Pre-order” ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board)ได้มอบนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” เป็นนโยบายหลักในการเพิ่มช่องทางตลาดให้หลากหลาย ทั้งในรูปแบบตลาดออนไลน์ ตลาดออฟไลน์ โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) รถโมบาย ตลาดสด ตลาดชุมชน คาราวานสินค้า เกษตรพันธะสัญญา และเคาน์เตอร์เทรด จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผู้ซื้อกับผู้ขาย เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจและการค้า

ทั้งนี้ โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ภายใต้โมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” เพื่อพัฒนาการตลาดของผลไม้และแก้ไขปัญหาราคาผลไม้ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ออกมาในเวลาพร้อมกัน ดังนั้นเพื่อให้เกิดมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหานี้ ฟรุ้ทบอร์ดจึงมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์นำกลยุทธ์การตลาดแนวใหม่ตามนโยบายของประธานฟรุ้ทบอร์ดมาใช้ในการทำงานเชิงรุกภายใต้ระบบ“สั่งซื้อล่วงหน้า”(Pre-order)โดยขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดระบบโครงสร้างการตลาดแบบครบวงจรจากเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ถึงผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยบริการโลจิสติกส์และการจ่ายเงินออนไลน์(E-payment) โดยร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นและทุกภาคีภาคส่วน

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯได้จัดทำปฏิทินผลไม้ เพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังผู้บริโภคล่วงหน้าว่าจะมีผลไม้ออกมาในช่วงเวลาใดบ้างของปีทั้งนี้ฟรุ้ทบอร์ดได้เห็นชอบโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลไม้ ปี 2564 งบประมาณ 492 ล้านบาท และมอบหมายกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบแล้วเพื่อสนับสนุนแผนงาน(1) การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตและการเชื่อมโยงการจำหน่ายช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (2) การเพิ่มช่องการจำหน่าย (3) การรวบรวมรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งออก (4) การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และรณรงค์การบริโภคผลไม้” ซึ่งเป็นมาตรการบริหารจัดการผลไม้ในฤดูกาลผลิตปีนี้โดยเน้นการทำงานเชิงรุกล่วงหน้าซึ่งเป็นการปรับกลยุทธ์การทำงานต่อเนื่องจากฤดูกาลผลิตปีที่แล้วเพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด19ระลอกใหม่และรับมือกับผลผลิตผลไม้ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้กว่า24%จากรายงานการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

นายกฤชฐา โภคาสถิตย์ ประธานคณะอนุกรรมการ E- commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการระบบห่วงโซ่ผลไม้ (Supply Chain)ตั้งแต่การคัดเลือกสวนผลไม้ที่มีคุณภาพเข้าร่วมโครงการ การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ช่องทางการสั่งซื้อล่วงหน้าแบบ pre-order ระบบการขายที่สะดวก มีการทำโปรโมชั่นที่โดนใจ โดยประชาสัมพันธ์ไปยังผู้บริโภคอย่างทั่วถึง ตลอดจนระบบการตรวจสอบย้อนกลับและการรับประกันคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคซึ่งถือเป็นระบบนิเวศน์ผลไม้ไทย(Thai Fruit eco-system )ที่ทำให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์สามารถมีช่องทางในจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์แปรรูปล่วงหน้าส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง ผ่านช่องทาง Online Platform และผู้บริโภคมีช่องทางในการเข้าถึงผลไม้คุณภาพดีตามฤดูกาลจากสวนผลไม้ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายและการชำระเงินที่สะดวกสบาย น่าเชื่อถือ ซึ่งนับเป็นอีกช่องทางสำคัญที่จะช่วยระบายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกมาล้นตลาด ยิ่งกว่านั้นผู้บริโภคเองก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้คือได้บริโภคผลไม้ที่มีคุณภาพรวมทั้งเกษตรกรชาวสวนผลไม้จะสามารถทราบได้ล่วงหน้าว่ามีความต้องการผลไม้อะไรบ้างในราคาเท่าไหร่ และในช่วงเวลาใด หวังว่าการริเริ่มดำเนินการระบบสั่งซื้อผลไม้ล่วงหน้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในครั้งนี้จะเป็นอีกกลไกในการเพิ่มโอกาสการขายให้กับชาวสวนผลไม้และสหกรณ์ผลไม้

ด้านนายพีระ อุดมกิจสกุล ซีอีโ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทไปรษณีย์ไทยในสังกัดกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นมีความยินดีที่ได้มีส่วนในความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้การบริหารจัดการของฟรุ้ทบอร์ด และพร้อมบริการขนส่งผลไม้โดยคิดค่าบริการในอัตราพิเศษภายในเดือนก.พ.นี้ และบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นยังมีสาขาทั่วประเทศถึง 1,300 แห่งที่พร้อมเป็นจุดบริการและช่วยส่งเสริมการขายผลไม้อีกด้วย

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ