กองทัพเรือจัดงาน"วันสดุดีวีรชนกองทัพเรือ"ประจำปี 2564 ลดขั้นตอนผู้ร่วมงานลงในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของวีรชนที่เสียสละชีวิตเพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติ
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) เป็นประธานในการจัดงาน เนื่องในวันสดุดีวีรชนกองทัพเรือ ประจำปี 2564 ที่อนุสรณ์เรือหลวงธนบุรี โรงเรียนนายเรือ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 ทำให้ในปีนี้ กองทัพเรือได้ปรับรูปแบบการจัดงานให้มีความเหมาะสมในรูปแบบ NEW NORMAL โดยลดขั้นตอน และผู้ร่วมงานลง แต่ยังคงไว้ซึ่งพิธีการสำคัญ ประกอบด้วย การวางพวงมาลา และอ่านคำสดุดีวีรชนกองทัพเรือ การจัดพิธีสงฆ์ เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญของวีรชนทหารเรือ ที่เสียสละชีวิต เพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติและยังคงอยู่ในจิตใจของทหารเรือทุกนายตราบจนปัจจุบัน
ทั้งนี้ พล.ร.อ.ชาติชาติได้มอบโล่ให้กับผู้ร่วมรบในสมรภูมิต่างๆ ประกอบด้วย น.อ.ประทีป อนุมณี "ประดู่เหล็กแห่ง ดูซงญอ"และญาติของวีรชนที่เข้าร่วมพิธีในปีนี้ พิธีสดุดีวีรชนและบำเพ็ญกุศลแด่วีรชนของกองทัพเรือ เป็นพิธีสำคัญที่กองทัพเรือจัดขึ้นเป็นประจำ ในวันที่ 17 ม.ค.ของทุกปี เพื่อให้ทหารเรือทุกคนได้แสดงความเคารพ และระลึกถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษทหารเรือที่ได้ทำการรบอย่างกล้าหาญ และยอมพลีชีพ เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติจากศัตรูที่รุกรานแผ่นดินของเรา
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้จารึกความกล้าหาญของทหารเรือไทยในยุทธนาวีที่เกาะช้าง ระหว่าง ไทย กับ ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2484 โดยฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทางเรือประกอบด้วย เรือลาดตระเวนลามอตต์ปิเกต์ เป็นเรือธง เรือสลุป 2 ลำ และเรือปืน 4 ลำ เรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธ 1 ลำ เรือดำน้ำ 1 ลำ เข้ารุกล้ำน่านน้ำไทยบริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อจะเข้าระดมยิงหัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศ กำลังทางเรือของไทยที่รักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้นประกอบด้วย เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงชลบุรี และ เรือหลวงสงขลา ภายใต้การบังคับบัญชาของ นาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธ์ ผู้บังคับการเรือหลวงธนบุรี แม้ว่าจะเสียเปรียบด้านกำลังรบอย่างมากวีรชนทหารเรือไทยได้ต่อสู้อย่างสุดกำลังความสามารถ จนต้องสูญเสียเรือรบทั้ง 3 ลำไป พร้อมชีวิตนายทหารและลูกเรือ รวมทั้งสิ้น 36 นาย รวมถึง นาวาโทหลวงพร้อมวีรพันธ์ แต่เป็นที่น่าภูมิใจว่าด้วยกำลังทางเรือ สามารถทำให้ข้าศึกได้รับความเสียหายจนต้องล่าถอยไปในที่สุด
สำหรับ การรบครั้งสำคัญที่ทหารเรือได้พลีชีพเพื่อชาติและราชนาวี เมื่อครั้งสงครามโลก ครั้งที่ 2 กองทัพเรือได้รับมอบภารกิจจัดเรือไปบรรทุกน้ำมัน ซึ่งเป็นยุทธปัจจัยสำคัญจากสิงคโปร์มายังประเทศไทย ซึ่งในครั้งนั้น เรือหลวงสมุย ได้ปฏิบัติภารกิจลำเลียงน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ทราบว่าเส้นทางลำเลียงอยู่ในเขตปฏิบัติการของเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรก็ตาม ในการเดินทางเที่ยวสุดท้าย เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พุทธศักราช 2488 เรือหลวงสมุย ได้ถูกยิงด้วยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร จมลงที่บริเวณนอกชายฝั่งรัฐตรังกานู ทำให้กองทัพเรือต้องสูญเสียทหารผู้กล้าไปจำนวน 31 นาย รวมถึงสูญเสียกำลังพล ในการต่อสู้ป้องกันการโจมตีทางอากาศ จากฝ่ายสัมพันธมิตรในแต่ละพื้นที่ในคราวเดียวกันนี้อีก 7 นาย