สสส.จัดกิจกรรม “นครปฐมโมเดล ปลูกผักสนุกจัง สานพลังการอ่าน…สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก”
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ศาลาเอนกประสงค์วัดบางภาษี อ.บางเลน จ.นครปฐม สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม ร่วมกับ Node Flagship สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นครปฐม และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “นครปฐมโมเดล ปลูกผักสนุกจัง สานพลังการอ่าน…สู่เมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก” เพื่อขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัย พร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ให้เด็กทุกคน สามารถเข้าถึงอาหารปลอดภัย ไร้สารพิษ รวมถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างเพียงพอเหมาะสมทั้งในภาวะปกติและภาวะพิบัติภัยต่างๆ
ผศ.ดร.นพ.คงเดช ลีโทชวลิต ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า อาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต การเข้าถึงอาหารเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นการได้รับความมั่นคงทางอาหาร หรืออาหารที่ปลอดภัย ไร้สารเคมีและสารพิษ จึงเป็นหลักประกันที่นำไปสู่การมีดุลยภาพในทุกมิติ ซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมอันดับต้นๆของโลก และนครปฐมเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์รายล้อมไปด้วยพืชผักผลไม้นานาชนิด ดังนั้นเพื่อให้เกิดระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาสมดุลของระบบนิเวศน์และความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม จึง ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและทุกภาคส่วน ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
รศ.ดร.เกศินี ประทุมสุวรรณ ผู้จัดการ Node Flagship สสส.นครปฐม และกรรมการผู้จัดการมูลนิธิปันสุข กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลในจังหวัดนครปฐม พบว่ามีประชากรทั้งสิ้น 911,492 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กแรกเกิดถึงปฐมวัย (0-5 ปี) ร้อยละ 6.1 และเป็นเด็กวัยเรียนตามการศึกษาภาคบังคับ (6-15 ปี) ร้อยละ11.3 ปัญหาสำคัญของเด็กทั้งสองกลุ่มคือ โภชนาการสมวัย โดยเด็กกลุ่มแรกมีภาวะทุพโภชนาการ ผอมและเตี้ย ส่วนกลุ่มหลัง คือ โรคอ้วนและเริ่มอ้วน ซึ่งมีถึงร้อยละ16 สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร สมัชชาสุขภาพจังหวัดนครปฐม ร่วมมือกับหลายภาคส่วน รวมถึง Node Flagship สสส.จังหวัดนครปฐม รณรงค์ขับเคลื่อนผ่านโรงเรียนต่าง ๆ หลายสังกัด เพื่อให้เด็กได้รับอาหารปลอดภัยครบ 3 มื้อ โดยสนับสนุนให้โรงเรียนปลุกผักกินเอง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ปกครองปลูกผักและรับซื้อผักปลอดสารพิษจากเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย
ด้าน นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า หากเราสามารถปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาวะและวางรากฐานกระบวนการอ่านการเรียนรู้ตั้งแต่เด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรกของชีวิต เขาจะเติบโตเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสังคมแห่งอนาคต เด็กหนึ่งคนจึงต้องใช้คนทั้งชุมชน ทั้งหมู่บ้าน ทั้งเมืองร่วมกันดูแล ช่วยกันหยุดทำร้ายเด็กในวันนี้ ต้องหยุดใช้สารเคมี
สำหรับพ่อแม่ ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูอนุบาล และผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือนิทานภาพ “ปลูกผัก สนุกจัง” ได้ทาง www.happyreading.in.th หน่วยงานในจังหวัดนครปฐมที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองอาหารปลอดภัยเพื่อเด็ก ติดต่อรับหนังสือได้ที่ เพจมูลนิธิปันสุข นครปฐม