THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

10 พฤศจิกายน 2563 : 08:35 น.

เน้นอบรมกลุ่มเยาวชนใช้ศักยภาพในทางที่ถูก “ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม” เผยแผนต้านเฟคนิวส์!

ในยุคที่คนเป็นสื่อได้ ความรู้เท่าทัน รู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ที่มาที่ไป อันไหนจริงเท็จ อาจมีความสำคัญเทียบเท่ากับศักยภาพในการผลิต! ดร. ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โครงการจัดเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ภายใต้แนวคิด “TMF POWER FUSION” กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม เพื่อขยายเครือข่ายการทำงานด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และด้านการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และแนวคิดด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง สัญจรลงภาคใต้ มี นายธนกร ศรีสุขใส, รศ.ดร. พนา ทองมีอาคม, นายสมชาย เจริญอำนวยสุข, นางสาวลัดดา ตั้งสุภาชัย เข้าร่วม เมื่อเร็ว ๆ นี้

ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ยินดีมากที่ได้เห็นการผนึกกำลังกันในการพัฒนาของกองทุนสื่อฯ และการเกิดขึ้นของกองทุนสื่อฯ ตั้งแต่ปี 2558 เราได้เห็นเจตนาในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งกองทุนนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อประชาชน ในการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงเป็นก้าวแรกของการพัฒนากองทุนสื่อ การจัดงานนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เราอยากให้เห็นภาพการทำสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนให้เห็นสื่อสีขาว ซึ่งการเปิดเวทีนี้เราจะเปิดการรับข้อคิดเห็นซึ่งจะพัฒนาประเทศได้ต่อไป

ปัญหาในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้? “ต้องยอมรับกันนะคะว่า สื่อมีผลต่ออิทธิพลทางความคิดและพฤติกรรมแสดงออก เด็กเยาวชนณวันนี้ เสพสื่ออาจจะไม่ได้มองมุมรอบคอบ อาจรับสื่อด้านเดียว มีความเชื่อและเชื่อไปตามๆ กัน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย กระทรวงวัฒนธรรม ตระหนักถึงปัญหารณรงค์ส่งเสริมสร้างแกนนำเด็กเยาวชนคนใหม่ๆ ให้ตระหนักรู้ อยากให้มีความรู้เท่าทันสื่อ และส่งต่อสื่อต่างๆ ออกไปอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันนั้น เราหวังจะสร้างให้เขาเป็นนักผลิตสื่อส่งออกสื่อดีๆ สู่สังคม ถ่ายทอด สู่เพื่อนเยาวชนด้วยกันในอนาคตด้วย”

การรับสื่อของกลุ่มเยาวชนแต่ละภูมิภาค? “จริงๆ แล้ว ผลกระทบของสื่อแต่ละภาค ไม่แตกต่างกันไปเลย แต่สิ่งที่แตกต่าง ความสนใจแต่ละพื้นที่อาจมีไม่เท่ากัน บางที่เยาวชนแข็งแรง รู้เท่าทัน แต่บางที่เปราะบาง เชื่อตามกัน โดยขาดการคิด วิเคราะห์ บริบทต่างๆ ความเป็นจริงที่เป็นมา หรือแวดล้อม เหล่านี้คิดว่าสิ่งสำคัญคือสถาบันการศึกษา และผู้ใหญ่ทุกๆ คน หน่วยงาน องค์กร ทุกภาคส่วน ต้องมีส่วนร่วม ให้พวกเขาได้ทำหรือแสดงออกในสิ่งดีๆ ซึ่ง กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดย กระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น ตามแนวเจตนารมณ์จากปัญหาข้างต้น บวกกับให้ความรู้ และเสริมศักยภาพในการผลิต เพื่อช่วยสังคม ให้เกิดสื่อดีๆ ที่มีผู้ผลิตความรู้ความเข้าใจ ไม่ทำสื่อทรี่ไปกระทบกับผู้อื่น

การเปิดเวทีสัญจรห้าภูมิภาค? “เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและการให้ทุนสนับสนุนต่อไปในอนาคต และทุกๆ ความเห็น ของทุกๆ คน ไม่ว่าเยาวชน ผู้ใหญ่ หรือสื่อมวลชนแต่ละภูมิภาค เป็นสิ่งสำคัญสะท้อนความคิด ความเห็น เราจะร่วมกันหาทางออก และการให้ทุนสนับสนุน ก็เพื่อจะได้ร่วมกันสร้างสรรค์สื่อดีๆ เกิดขึ้นในสังคม”

ตอกย้ำเปิดกว้างรับฟัง? คนมักจะมองว่าสื่อต้องมาจากอาชีพ หรือสื่อมาจากสื่อมวลชนเท่านั้น แต่จริงๆ ปัญหาสื่อที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากสื่อจริงๆ เลย อาจเป็นบุคคลหรือเยาวชนทั่วไปนี่แหละ ทำสื่อความรู้ความเข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วก็ทำสื่อในสิ่งที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ผลกระทบที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี หรือรู้จักปรับเลือกใช้สื่อ ก็จะเชื่อตามกันไป กลายเป็นปัญหาเรื่อง เฟคนิวส์ รับสื่อในทางไม่ถูกต้อง กล่าวร้ายกับคนอื่น ข้อมูลไม่เป็นจริง การทำงานของกองทุนฯ จึงเน้นเปิดเวที ควบคู่กันไปกับการอบรมให้ความรู้ เพราะพวกเขานี่แหละจะเป็นอนาคตของประเทศไทย เป็นกระบอกเสียงที่จะบอกสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริงคืออะไร

ปัจจุบันมีการดำเนินการสองอย่างควบคู่กันไป กลไกภาครัฐผ่านคณะกรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ มีท่านรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เป็นประธานฯ กระทรวงฯ ทำเชิงนโยบาย กองทุนฯ ไปสนับสนุนเปิดพื้นที่ อบรม เกิดการผนึกกำลังและหลอมรวมก่อให้เกิดสิ่งที่ดีๆ เรียกว่า นวัตกรรมเพื่อการพัฒนา ขณะเดียวกันหลังจากนี้ จะมีพลังของเครือข่ายเยาวชนที่จะสะท้อนกลับมา บนเวทีสร้างการมีส่วนร่วมทั้งห้าภาคนี้”

แนวทางแก้ปัญหาเฟคนิวส์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชน? “ปัจจุบัน เรามีการเปิดค่ายอบรมให้กับเด็กและเยาวชนในแต่ละภูมิภาค เปิดให้มากที่สุด เสริมศักยภาพเขาทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าการที่เราจะผลิต เผยแพร่สื่ออะไรออกไป คือ หนึ่งต้องมีความเข้าใจ ควรเอาความคิดสร้างสรรค์ที่อย่างน้อยๆ ผลิตสื่อเป็นนี่ ทำสื่อดีๆ ออกสู่สังคม ปลูกฝังเยาวชน ขณะเดียวกัน สองเราต้องฉีดวัคซีนให้เด็ก ถ้ารับสารไม่ดี ไม่รู้จักวิเคราะห์ ก่อนเผยแพร่ จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งจริงๆ แล้วมีกฎหมาย พรบ.คอมพิวเตอร์ การส่งผ่านมีความผิดอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าการปลูกฝังเด็กตั้งแต่วันนี้เป็นสิ่งสำคัญกว่า” 

ลัดดา ตั้งสุภาชัย ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ "เราถูกปลูกฝังให้ต้องเฝ้าระวังวัฒนธรรมซึ่งเป็นมรดกของชาติ ซึ่งแต่ละภาคมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการเฝ้าระวังเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสื่อ ซึ่งสื่อเป็นสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก การมีสื่อที่ดีจะส่งผลกระทบในแง่บวก ประกอบไปด้วย สร้างศีลธรรมอันดี สร้างความสามัคคี สร้างความอบอุ่นในครอบครัว ไม่ขัดต่อกฎหมาย เช่นเดียวกับสื่อที่มีปัญหาในเรื่องเพศ และครอบครัว คือขยะของสังคม เราต้องการทิ้งและพัฒนาสื่อที่ดีต่อสังคม เราต้องการเห็นเด็กที่ดีในสังคม เราจึงต้องขจัดสื่อร้าย ขยายสื่อที่ดี เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อสังคมได้ดีขึ้นด้วย"

สำหรับเวที TMF Power Fusion กองทุนสร้างสรรค์สื่อ สื่อสร้างสรรค์สังคม จะสัญจรต่อเนื่องไปอีก 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จ.อุบลราชธานี ครั้งที่ 4 วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี ครั้งที่ 5 วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ฟรี!!! https://tmfpowerfusion.com/

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ