อธิบดี พช.เน้นย้ำผู้บริหารระดับสูงมหาดไทยน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน
เมื่อวันที่ 26 กันยายน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” ในโครงการศึกษาอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยเป็นกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ที่ปรึกษากระทรวง ผู้ตรวจราชการกระทรวง รองอธิบดี รองผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 39 คน ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร
นายสุทธิพงษ์ กล่าวในการบรรยายว่า กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งการส่งเสริมอาชีพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยแยกเป็น 2 ขา คือ การทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มผลิต OTOP สัมมาชีพชุมชน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล รวมไปถึงโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี อีกขาหนึ่ง คือ ทุนชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่มีสมาชิกกว่า 14 ล้านคน และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด โดยทั้ง 2 ขามีมวลชนที่รองรับ คือ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ผู้นำสตรี ภาคีเครือข่ายที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน OTOP Trader งานของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นงานสำคัญ
ทั้งนี้ มีวรรคทอง 2 วรรค วรรคแรกของผู้ใหญ่เก่า ๆ ในกระทรวงมหาดไทยว่า “งานของกรมการพัฒนาชุมชน ตรงกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทยที่ว่า บำบัดทุกข์ บำรุงสุข มากกว่าทุกกรม” และของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยที่ว่า “ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนเป็นข้าราชการที่คุยกับชาวบ้านรู้เรื่องมากกว่าทุกกระทรวงทบวงกรม มีนัยนะชาวบ้านให้ความเชื่อถือข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชนงานของเราเป็นงานที่ได้บุญ ทั้งบุญกุศล แล้วก็บุญคุณ จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ช่วยดูแลนำการขับเคลื่อนด้วย และในปีนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้ใช้ประโยชน์ จากการจัดเก็บข้อมูลจปฐ. ที่ดีมากกว่าเก่า สามารถใช้เป็นลายแทงในการที่จะลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม สะดวกง่ายกว่าในอดีต เพราะว่าปีนี้จะเป็นระบบดิจิตอลในการจัดเก็บ เราใช้คำว่า Smart survey ในการประมวล มีการอัพเดท แล้วก็มีการรวบรวมส่งข้อมูลให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป ในส่วนของภารกิจสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน ก็ยังมีอีกมาก ซึ่งถือว่ามีศักยภาพที่จะส่งเสริมบทบาทภารกิจของผู้ว่าราชการจังหวัดได้
สำหรับ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งกรมฯ เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว ทำมาแล้วเกินกว่า 15 ปี มีหมู่บ้านต้นแบบ มีผู้นำที่เป็นแกนหลัก แต่ยังไม่ติดตลาด จึงได้น้อมนำหลักทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ด้วยความเชื่อมั่นว่า หลักทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหนทางที่จะทำให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤตและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพัฒนาผู้นำต้นแบบแล้ว 1,500 คน และพัฒนาพื้นที่ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน ทั้ง 11 แห่ง ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ที่ตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และขณะนี้กรมฯ ได้รับอนุมัติเพื่อใช้เงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิดจำนวน 4,700 กว่าล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการในพื้นที่ 25,179 แปลง ใน 73 จังหวัด และกำลังจะขอในระยะทั้ง 2 อีกประมาณ 14,000 กว่าครัวเรือน โดยประยุกต์ใช้หลักทฤษฎีใหม่ประมาณ 15 ทฤษฎี เช่น ใช้อธรรมปราบอธรรม การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง หลุมขนมครก การห่มดิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เรียกว่าพัฒนาพื้นที่พัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล มีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่ที่มีอยู่กว่า 40 ทฤษฎี ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” เพราะเป็นภาษาชาวบ้าน เข้าใจได้ง่าย โครงการนี้ ยึดหลักเรื่องของคนเป็นสำคัญ กรมฯ ไม่ได้ทำคนเดียว มีการลงนาม MOU มีภาคีเครือข่าย มีการจับมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ที่ก่อตั้งโดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กฟผ. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ Earth Safe และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อ “คิดการใหญ่” เอามาเผยแพร่ให้คนทำให้ได้ เพราะตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงของชีวิต สิ่งแวดล้อม ความอุดมสมบูรณ์ ท้ายที่สุดคือ ประชาชนมั่งคั่ง เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ภาพสุดท้ายคือ การมีมหาวิทยาลัยทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เผยแพร่ภาพวาดฝีพระหัตถ์ที่เกี่ยวข้องกับ โคก หนอง นา โมเดล หลายครั้ง และพระราชทานโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง ให้กรมราชทัณฑ์ฝึกอบรมผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษ มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างมาก เป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญ กราบเรียนท่านผู้ว่าฯ ให้นำไปใช้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นเครื่องยืนยันว่า พระองค์ท่านได้ทำตามพระปฐมบรมราชโองการที่ประกาศต่อมหาสมาคมและพสกนิกรชาวไทยว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” สะท้อนถึงพระราชปณิธานในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่าง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร การต่อยอด คือ การพัฒนา ปรับปรุง แต่ยืนอยู่บนพื้นฐานเดิม ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนจะดำเนินสนองแนวพระราชดำริการคืนคนดีสู่สังคมด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ผ่านหลักสูตรโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังโครงการพระราชทานแก่กรมราชทัณฑ์ดังกล่าวสมัครเข้าทำงานเพื่อพัฒนาตนเองในศูนย์เรียนรู้ตำบลและฝากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยเป็นธุระดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ให้เป็นคนดีของสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับ ทฤษฎีใหม่ มี 9 ขั้น คือ พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น แล้วมีการทำบุญ ทำทาน มีการเก็บ ทั้งการเก็บแบบตรง ๆ และการแปรรูป การถนอมอาหารต่าง ๆ เมื่อเหลือเก็บก็ขาย ส่วนขั้นสุดท้ายคือการรวมกลุ่ม เป็นเครือข่าย การรวมกลุ่มอาชีพ และต่อยอดเป็นบริษัทประชารัฐได้