THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

17 สิงหาคม 2563 : 15:51 น.

ระยอง-กรมสุขภาพจิตเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิต ชีวิตวิถีใหม่ “MCATT: New normal ERA” แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานช่วยเหลือเยียวยาจิตใจของทีม MCATT หวังให้เป็นกำลังสำคัญช่วยลดความเครียดจากโควิด-19

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิต ชีวิตวิถีใหม่ “MCATT: New normal ERA” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์การดำเนินงานช่วยเหลือเยียวยาจิตใจของทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต เพื่อเตรียมความพร้อมระบบบริการวิกฤตสุขภาพจิต รวมถึงการแพร่ระบาดซ้ำของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สามารถเกิดการแพร่ระบาดใหม่อีกครั้งในอนาคตได้ ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สวีต ซิตี้ เซ็นเตอร์ จ.ระยอง 

นายสาธิต กล่าวว่า จ.ระยองเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาวิกฤตจากสถานการณ์โควิด-19 กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT ลงพื้นที่มาดูแลตั้งแต่วันแรก เพื่อคัดกรอง ประเมินความเสี่ยงพบว่า จากเหตุการณ์ทหารต่างชาติเข้ามาในประเทศและไม่กักตัว ทำให้ชาวระยองมีตัวเลขความเครียดสูงถึงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบแล้วเท่ากับความเครียดของประเทศไทยทั้งประเทศตอนเจอสถานการณ์วิกฤตโควิดช่วงแรก กรมสุขภาพจิตจึงใช้โอกาสวิกฤตนี้จัดสัมมนาวิชาการ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ลดความเครียดลง ไม่ให้มีความเครียดสะสม

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศไทยคลี่คลายลง แต่คนไทยที่ร่วมกันต่อสู้กับภาวะวิกฤตการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เกิดความกดดัน ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะหมดไฟ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 ภายใต้ “แนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (Combat 4th Wave of COVID-19: C4)” โดยมุ่งเน้นให้ประชาชน ครอบครัว และชุมชน ปลอดภัยจากผลกระทบด้านสุขภาพจิตในสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ และมีความเข้มแข็งทางจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลัง สามารถปรับตัวเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

ทั้งนี้ทีม MCATT จะมีการลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อไปคัดกรองและให้คำปรึกษากับประชาชน ให้เข้าถึงการบริการของกรมสุขภาพจิตในทุกมิติ ถือเป็นภารกิจสำคัญของทีม MCATT ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าการลงพื้นที่ทำงานของทีม MCATT จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้ หากผู้ป่วยที่มีความเครียดสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่ในระยะแรกที่มีอาการ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าถ้าเราทำงานได้ทันสถานการณ์ นอกจากจะช่วยลดความเครียดของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้ ยังสามารถยับยั้งตัวเลขการฆ่าตัวตายให้ลดลงได้เช่นกัน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านสุขภาพจิต ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ประกาศนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการดูแลเยียวยาจิตใจของประชาชน ภายใต้ “แผนฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์การระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากทุกภาคส่วน เน้นการดำเนินงานมาตรการเชิงรุกในการให้ความสำคัญกับการดูแลด้านจิตใจและสังคมของประชาชนทั้งในระดับบุคคล ครอบครัวชุมชน

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ