นครราชสีมา-เปิดฟาร์มเพาะปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยและพัฒนาในชุมชนแห่งแรก ก่อนพัฒนาต่อยอดและแปรรูปไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านอาหารและยา สร้างรายได้ความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ร่วมกับ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เป็นประธานเปิดฟาร์มเพาะปลูกกัญชาเพื่อการวิจัยและพัฒนาในชุมชนแห่งแรกของ จ.นครราชสีมา ที่บ้านเลขที่ 59 หมู่ที่ 1 บ้านเหมือดแอ่ ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมาฟาร์มเพาะปลูกกัญชาแห่งนี้เป็นโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ของมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมาและวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรทฤษฏีใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และภาคเอกชน สนับสนุนงบประมาณการสร้างโรงเรือนและสนับสนุนความพร้อมด้านอื่นๆ อาทิ การติดตั้งระบบปรับอากาศ แสงภายในโรงเรือน ติดตั้งวงจรปิดและรั้วที่มีความสูง วางระบบป้องกันเป็นอย่างดี
อยางไรก็ตาม ฟาร์มแห่งนี้ได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ปลูกและมีไว้ครอบครองพืชกัญชาสำหรับโครงการวิจัย ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์กัญชาจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ปัจจุบันกระบวนการเพาะปลูกและศึกษาวิจัยได้เริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ และนำผลการวิจัยไปพัฒนาต่อยอด แปรูปผลิตภัณฑ์จากกัญชาไปสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี การเภสัชกรรม การพาณิชย์และการส่งออก จะนำมาซึ่งการสร้างรายได้และความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีโครงการขยายฟาร์มเพาะปลูกกัญชาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา อีก 5 แห่ง
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า กัญชาที่เพาะปลูกจะเป็นกัญชาอินทรีย์ทั้งหมด เพื่อจะนำผลผลิตไปต่อยอดพัฒนาในเรื่องของอาหารและยา ะแม้ว่าขณะนี้จะยังไม่แล้วเสร็จ แต่ก็เป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ เมื่อครบกระบวนการก็จะได้นวัตกรรมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดินที่ใช้ปลูก สายพันธุ์กัญชา และกระบวนการปลูกเพื่อให้ได้กัญชาอินทรีย์ ไปจนถึงท้ายสุดปลายน้ำ คือได้ผลิตภัณฑ์กัญชาที่สามารถนำใช้ได้ทั้งในเรื่องของยาและอาหาร จะเป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการ และในด้านการสาธารณสุข เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นต้นแบบให้กับโครงการพัฒนากัญชาในพื้นที่อื่นๆได้เป็นอย่างดี
ด้าน ผศ.ดร.ธนากร เปลื้องกลาง หัวหน้าโครงการวิจัยฯ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา กล่าวว่า ปัจจุบันมีการลักลอบนำพืชกัญชามาใช้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นจำนวนมาก แต่ผู้ที่นำมาใช้ไม่ทราบว่ามีสารสำคัญและสารปนเปื้อนอยู่มากน้อยแค่ไหน การนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสมกับความต้องการผู้ป่วยถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก ดังนั้น การควบคุมคุณภาพจึงเป็นกระบวนต้นน้ำที่สำคัญ ที่จะบอกได้ว่า มีปริมาณสาระสำคัญอยู่เท่าไร และมีกี่ตัว ซึ่งเมื่อทราบแล้ว ก็จะสามารถนำไปประยุกต์และต่อยอดการใช้งานให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง มากกว่าเกิดโทษ