พิษณุโลก-ชาวบ้านวังกะบาก อ.วังทอง ยึดอาชีพเผาข้าวหลามขายนักท่องเที่ยว ริมถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก มานานร่วม 10 กว่าปี ใครขับรถผ่านต้องแวะซื้อ"ข้าวหลามลืมผัว"
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมบรรยากาศการท่องเที่ยวรูท 12 ถนนพิษณุโลก-หล่มสัก อ.วังทอง จ.พิษณุโลก คึกคักไปด้วยยานพาหนะที่สัญจรผ่าน ช่วงวันหยุดยาว นักท่องเที่ยวมีเป้าหมายเดินทางไปเที่ยวชมธรรมชาติทั้ง จ.พิษณุโลก เต็มไปด้วยน้ำตกสวยงาม และสถานที่ท่องเที่ยว จ.เพชรบูรณธ์ ในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังทั้งภูทับเบิกและเขาค้อ และถ้าเดินทางโดยรถยนต์จาก จ.พิษณุโลกมุ่งสู่ อ.วังทอง เมื่อขึ้นเขาวังนกแอ่น ผ่านค่ายสฤษดิ์เสนาอุปถัมภ์ บริเวณบ้านวังกะบาก ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 35 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวจะสะดุดตาการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว จะเห็นร่มแดงกางอยู่ไกล ๆ ริมสองฝั่งถนนในช่วงระยะทาง 2 กิโลเมตร ทั้งขาเข้าและขาออก พร้อมกับป้ายสีแดงตัวใหญ่ ๆ เขียนว่า "ข้าวหลามลืมผัว" มีหลากหลายเจ้าของ อาทิ ข้าวหลามลืมผัวเจ๊หวี ข้าวหลามลืมผัวน้อมดรีม ที่ล้วนแต่เป็นชื่อของแม่ค้าที่ยึดอาชีพเผาข้าวหลามขายนักท่องเที่ยวมานานร่วม 10 กว่าปีแล้ว
น.ส.สุพรรณี พรมมา อายุ 22 ปี บ้านวังกะบาก ม.19 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง เปิดเผยว่า ตนเป็นแม่ค้ารายใหม่ เพิ่งมาทำอาชีพขายข้าวหลามลืมผัวเมื่อต้นปี 2563 โดยตั้งอยู่ร้านแรกริมถนนพิษณุโลกหล่มสัก ถ้ามาจากตัวเมืองพิษณุโลกมุ่งหน้าสู่เพชรบูรณ์ ก่อนถึงน้ำตกสกุโณฑยาน หรือ น้ำตกวังนกแอ่น จะเจอร้านตนเป็นร้านแรก ข้าวหลามลืมผัว ดรีม ดรีม เหตุผลที่มาขายเพราะเห็นช้าวบ้านในหมู่บ้านทำขายมา 10 กว่าปีแล้ว ขายได้ ยึดเป็นอาชีพได้ เมื่อก่อนเคยทำงานโรงงาน วันนี้หันมายึดอาชีพทำข้าวหลามขาย และที่ต้องเขียนป้ายว่าข้าวหลามลืมผัว เพราะเขียนตามพี่ป้าน้าอา ที่เคยขายมาก่อน ล้วนเขียนป้ายร้านว่า ข้ามหลามลืมผัว
สำหรับ ที่มาของคำว่าลืมผัวนั้น มาจากชื่อพันธุ์ข้าวเหนียวดำ ที่กินแล้วอร่อย จนได้ชื่อว่าเป็นข้าวเหนียวลืมผัว นักท่องเที่ยวจำนวนมาก เมื่อแวะซื้อต่างก็สอบถามว่า ทำไมชื่อข้าวหลามลืมผัว ก็ต้องอธิบายว่ามาจากพันธุ์ข้าวเหนียวดำ ส่วนการขายข้าวหลามของชาวบ้านวังกะบากนั้น จะทำอยู่สามชนิดหลัก ๆ คือ ข้าวเหนียวขาวไส้ถั่วดำ ข้าวเหนียวดำไส้ถั่วดำ และข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวดำ หน้าสังขยา จะมัดรวมกันเป็นมัดละ 2 กระบอก และมัดละ 3 กระบอก ราคาขายมัดละ 50 บาท และ 100 บาท ตามขนาดของกระบอกไม้ไผ่ที่บรรจุ
ด้าน เจ๊หวี เจ้าของร้านเจ๊หวี ร้านแรก ๆ ที่เริ่มเผาข้าวหลามขายให้นักท่องเที่ยวริมถนนพิษณุโลก-หล่มสัก กล่าวว่า ชาวบ้านวังกะบากที่มาขายข้าวหลามส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ทำสวนผลไม้ ค้าขาย และรับจ้างทั่วไป เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน สมัยที่ยังเป็นถนนสองเลน เริ่มมีชาวบ้านเผาข้าวหลามขาย ปรากฏว่า ขายได้ มีนักท่องเที่ยวแวะซื้อเป็นประจำ จากนั้น ชาวบ้านก็ได้เริ่มหันมาประกอบอาชีพเผาข้าวหลามขายตาม ๆ กัน ปัจจุบันมีประมาณ 20 ครอบครัวแล้ว ข้าวหลามบ้านวังกะบาก จะทำวันต่อวัน ลูกค้ามีทั้งนักท่องเที่ยว และลูกค้าขาประจำ ส่วนใหญ่จะจอดถามด้วยความสงสัย ว่าข้าวหลามลืมผัวเป็นอย่างไร