กรมการพัฒนาชุมชนรุกหนัก ฝึกปฏิบัติการการทำงานแบบมีส่วนร่วมด้วยกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่
เมื่อวันที่ 25 ก.ค.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “ฝึกปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7ภาคี ด้วยการบูรณาการการทำงานแบบมีส่วนร่วมในรูปแบบการช่วยเหลือกันและกัน ผ่านการเอามื้อสามัคคี” โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยมี นายวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม, ภาคีเครือข่าย ครูและนักเรียน ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมงาน ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี จ.สระบุรี
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยกิจกรรม“ฝึกปฏิบัติ การเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคี ด้วยการบูรณาการการทำงาน แบบมีส่วนร่วมในรูปแบบการช่วยเหลือกันและกัน ผ่านการเอามื้อสามัคคี” ในวันนี้ เป็นการฝึกปฏิบัติการเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคี ผ่านการเอามื้อสามัคคี เป็นการน้อมนำในแนวทางตามหลักทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงพระราชทานเพื่อคนไทยและความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน และ ยังเป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของกรมการพัฒนาชุมชนอีกด้วย
ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ที่เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรีในวันนี้ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารเป็นหลัก สิ่งที่เราทำไปนั้นจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และขอให้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในชีวิตประจำวัน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โดยภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีนี้จะต้องเป็นตัวผลักดันและเป็นผู้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง การคิดค้นข้อปฏิบัติใหม่ๆ ในทฤษฎีจะนำไปสู่สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงตาม “ศาสตร์พระราชา” มาประยุกต์สู่ “การทำเกษตรทฤษฎีใหม่” โดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน 30 : 30 : 30 : 10 โดย 30 % สำหรับแหล่งน้ำ ขุดบ่อทำหนอง ขุดคลองไส้ไก่ 30 % ปลูกข้าว 30 % ทำโคกหรือป่า 10% สำหรับที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชอาหาร แหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัย อย่างสมดุลให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งอยากฝากให้ศูนย์ฯ ที่จังหวัดสระบุรีปลูกด้วย อย่างน้อยก็สามารถที่จะให้ออกซิเจน ให้ความร่มรื่นได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องหลักที่จะทำให้โลกนี้สีเขียว Change for good ได้เป็นอย่างดี
สำหรับ กิจกรรมหลักในวันนี้ คือ การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และเป็นครั้งแรกของกิจกรรมปลูกไม้ 5 อย่าง หรือ 5 สหายในหลุมเดียวกัน เพื่อให้พืชทั้ง 5 ชนิดที่ใช้แร่ธาตุต่างกัน เกื้อกูลกัน และ นำไปสู่การปรับปรุงดิน ให้แร่ธาตุอาหารที่ดีแก่ดินต่อไป นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมย่ำที่ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทางโรงเรียนโป่งเกตุ อำเภอมวกเหล็ก, การทําฝายชะลอน้ำ เพื่อลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และขุดคลองไส้ไก่ เพื่อการกระจายน้ำและบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ให้ทั่วผืนแผ่นดินของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนสระบุรี