ตราด-รมช.เกษตรฯเดินหน้าขับเคลื่อนเกษตรแปลงใหญ่ ผลิตทุเรียนมาตรฐาน GAP ด้าน มกอช.วางเป้าขยายพื้นที่แปลงใหญ่ทุเรียน จ.ตราด พัฒนาต่อยอดการตลาด ผ่าน DGTFarm.com หนุนใช้เครื่องหมาย Q และติด QR Trace ตรวจสอบย้อนกลับ
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีมอบใบรับรองให้กับเกษตรกรที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ณ ศูนย์เรียนรู้กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย ต.ท่ากุ่ม อ.เมือง จตราด ว่า การดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เป้าหมายลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ร่วมกับภาครัฐขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการพัฒนาเกษตรกรให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน
นายประภัตร กล่าวว่า สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ภาคตะวันออกให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) ปี 2563 เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดตราด มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปลูกทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐาน GAP สามารถผลิตทุเรียนได้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาด และผู้บริโภค รวมถึงสามารถขายผลผลิตทุเรียนผ่านระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com ห้างโมเดิร์นเทรด และโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560)
“ผลการดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนจังหวัดตราด ปี 2562 มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 38 ราย พื้นที่ 591 ไร่ ปริมาณผลผลิตทุเรียน 1,236 ตัน มูลค่าผลผลิต 148 ล้านบาท เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนต้นแบบที่ใช้ระบบตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) จำนวน 10 ราย และสนใจจำหน่ายผลผลิตทุเรียนผ่านระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com จำนวน 2 ราย” รมช.เกษตรฯ กล่าว
สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทรายได้เข้าร่วมโครงการฯ โดยมีเกษตรกรสมาชิกได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 38 ราย รวมถึงสร้างเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทุเรียน และสนับสนุนการแสดงเครื่องหมาย Q การสร้างเอกลักษณ์และเรื่องราว (Story) ของทุเรียนกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย พร้อมนำร่องการใช้ QR Trace เพื่อแสดงถึงการผลิตทุเรียนที่ได้มาตรฐานและสามารถตามสอบแหล่งที่มาได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สร้างความแตกต่างของสินค้า เพิ่มช่องทางการตลาด โดยมีการเชื่อมโยงตลาดสู่ห้างโมเดิร์นเทรด และโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง และขยายทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนผ่านระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com
“การปลูกทุเรียนในภาคตะวันออกนับว่าประสบความสำเร็จจอย่างยิ่ง ทาง มกอช. จึงเข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรได้เรียนรู้จะทำอย่างไรให้สินค้าได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อ โดยการติดสัญลักษณ์ Q อีกทั้งเป็นการส่งเสริมราคาให้เกษตรกรได้เกษตกรอีกด้วย นอกจากนี้รัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง ครม.จึงเห็นชอบอนุมัติวงเงิน 50,000 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ที่มั่นคง ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้สามารถจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีตลาดรองรับ โดยมีอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อไม่เกินกลุ่มละ 10 ล้านบาท หรือดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 - 30 พ.ย. 65” นายประภัตร กล่าว