THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

08 มิถุนายน 2563 : 19:12 น.

สว.สังศิต พิริยะรังสรรค์ นำกมธ.แก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ลงพื้นที่ภาคอิสานดูการแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อบริการจัดการน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เดินทางเข้าสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน ในพื้นที่จ.สกลนคร โดยมี นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร รศ.ดร.ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร ส.ว.สกลนคร นายเกียว แก้วสุทอ ส.ว.สกลนคร พร้อมคณะผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจาก สกลนคร นครพนมและมุกดาหารให้การต้อนรับ พร้อมรับฟังรูปแบบการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำแล้งใน 10 แนวทางพัฒนาเพื่อท้องถิ่นพึ่งพาตนเอง ณ ห้องประชุมกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 จ.สกลนคร

ทั้งนี้ ประกอบด้วย รูปแบบบ่อบาดาลน้ำตื้น รูปแบบสระซอยซีเมนต์ รูปแบบชุดสูบน้ำโซล่าเซลล์ ซับเมอร์สแบบบัสเลสและชุดโครงสร้างรับแผงโซล่าเซลล์พร้อมอุปกรณ์ รูปแบบชุดหอถังพักน้ำ รูปแบบชุดระบบกระจายน้ำ รูปแบบฝายต้นน้ำแกนซอยซีเมนต์ รูปแบบฝายในลำห้วยแกนซอยซีเมนต์ รูปแบบฝายในลำน้ำแกนซอยซีเมนต์ รูปแบบธนาคารน้ำ 3 ประโยชน์หรือบ่อน้ำตื้น รูปแบบบ่อเติมน้ำลงสู่ชั้นใต้ดิน ที่ดร.สังศิตได้แถลงต่อเวทีการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1

จากนั้น คณะได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 สำรวจปริมาณน้ำของ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น เขื่อนน้ำอูน เขื่อนน้ำพุง ประตูน้ำสุรัสวดี ลำน้ำก่ำ และดูสภาพภัยแล้งของอำเภอเต่างอย พบว่าปริมาณน้ำเก็บกักยังมีน้อย ก่อนที่ทางคณะฯได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ ที่ทางศูนย์ปฏิบัติการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำนำมาจัดแสดง โดยนายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะได้ดำเนินการจัดหาพื้นที่และงบประมาณ เพื่อนำมาจัดทำเป็นโครงการนำร่องตาม 10 แนวทางฯ ที่ได้รับข้อมูล ให้ทางผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัด ประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้ศึกษาตามแนวทางช่วยเหลือต่อไป

ดร.สังศิต กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ดูสภาพแหล่งน้ำทั้งในสกลนคร และนครพนม พบว่าหนองหารเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่และสำคัญมาก กฎหมายเดิมออกเมื่อปี พ.ศ. 2484 อาจไม่สอดรับกับภาวการณ์ในปัจจุบัน ตรงนี้ควรมีการทบทวนเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรให้มากยิ่งขึ้น จ.สกลนคร ถือเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีห้วยหนองคลองบึงอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับหนองหารก็มีผลทั้งต่อสกลนคร รวมถึงนครพนม ดังนั้นการแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืนควรเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำของหนองหารให้มากขึ้น ส่วนน้ำก่ำก็พบว่ามีน้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง การแก้ปัญหาโดยการนำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแหล่งน้ำที่เหมาะที่สุดคือการนำยุทธศาสตร์การจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กมาใช้

"ฝายซอยซีเมนต์ จะตอบโจทย์การอนุรักษ์น้ำในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี เกษตรกรมีน้ำใช้ได้ทั้งปี และใช้งบประมาณไม่มากสามารถปรับใช้ได้ในทุกแหล่งน้ำในภาคอีสาน หลังมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์แล้ว เกษตรกรควรแบ่งพื้นที่การเพาะปลูก จากเดิมที่นิยมทำนาเพียงอย่างเดียว ให้หันมาปลูกผลไม้เศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เช่น ทุเรียน มังคุด เงาะ ฯ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับจังหวัดบูรณาการการทำงานร่วมกันในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร ทำแผนการเกษตรที่ชัดเจน ลดปัญหาหนี้สินเกษตรกร เมื่อภาคการเกษตรซึ่งเป็นรากฐานของชาติมั่นคงดีแล้ว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศเจริญเติบโตอย่างมั่งคงและยั่งยืนต่อไป"ดร.สังศิต กล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ