THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

07 มิถุนายน 2563 : 13:14 น.

อุบลราชธานี-อธิบดีพช.ร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ปลื้มได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) กระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เดินทางไปร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี บริเวณพื้นที่ต้นแบบ “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต” ตามหลักทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.อุบลราชธานี พร้อมด้วย นายกเหล่ากาชาดอุบลราชธานี นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี ประธานหอการค้าอุบลราชธานี เซฟอุบลอุบลราชธานี และ หน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

ทั้งนี้ มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง พระครูสุขุมวรรโณภาส เจ้าอาวาสวัดวังอ้อ เจ้าคณะตำบลหัวดอน ในฐานะผอ.ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ จ.อุบลอุบลราชธานี นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว ปลัดจ.อุบลอุบลราชธานี นายพันมหา ทองบ่อ ผอ.พัฒนาที่ดินจ.อุบลอุบลราชธานี นางราตรี สะดีวงศ์ รองผอ.วิทยาเกษตรและเทคโนโลยีอุบลฯ นายสมชาติ พงคพนาไกร กรรมการผู้จัดการบริษัท คูโบต้าเจริญชัย นายศุกดิ์ชัย บุญญะบาล ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติอุบลอุบลราชธานี เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯร่วมกันด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต” ตามหลักทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" ในการดูแลของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จ.อุบลราชธานีมีพื้นที่ 20 ไร่ ออกแบบโดยสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และสนับสนุนงบประมาณกว่า 300,000 บาท โดยกรมการพัฒนาชุมชนการขับเคลื่อนเชิงรุกและความรุดหน้าของโครงการนี้ จะกลายเป็นโมเดลสำคัญให้กับพื้นที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอื่นๆต่อไปได้

“ผมยินดีมากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสนับสนุนโครงการนี้ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ คำว่าโคกหนองนา มีที่มาของการบัญญัติศัพท์จากชาวอุบลราชธานีเอง ซึ่งสิ่งที่พวกเราทำวันนี้คือการสนองพระบรมราชโองการ สนองพระราชดำริของ รัชกาลที่ 9 ที่จะรักษาและต่อยอด เป็นพสกนิกรที่จงรักภักดี ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ขอให้พวกเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนโดยแท้จริง กรมการพัฒนาชุมชนยินดีที่จะให้การสนับสนุน ยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย จะได้ช่วยกันเนรมิตแผ่นดินไทย ให้เป็นแผ่นดินทอง ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้”นายสุทธิพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการใน 2 ระดับ คือ ระดับครัวเรือน รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และระดับอาชีพ คือ การส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อให้เกิดอาชีพที่ยั่งยืน โดยนำหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ครอบครัว ได้ดำเนินการเป็นแบบอย่างในการบริหารจัดการที่ให้มีการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชอาหาร แหล่งน้ำ และที่อยู่อาศัย อย่างสมดุลให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อช่วยให้ประชาชนและชุมชนทุกแห่งสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่มากประสบการณ์มาช่วยให้ความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

สำหรับ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต” ตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" จ.อุบลราชธานี บริหารจัดการแบ่งโมเดลพื้นที่เป็น 8 กลุ่มสำคัญที่มีความเชื่อมโยงกันในลักษณะโมเดลพอเพียง อาทิ การแบ่งพื้นที่ 30 ตร.วา สร้างบ้านพอเพียง ปลูกพืชผักที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตนเอง พื้นที่ 1 ไร่ทำสวนพอเพียง แบ่งสัดส่วนพื้นที่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ 30:30:30:10 หมายถึง 30% ให้ขุดสระเก็บกักทำประมงขนาดย่อม 30% พื้นที่ทำนา 30% ปลูกพืชผักผลไม้ และ 10% เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งระบบนิเวศทั้งหมดจะเกื้อกูลกัน และต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล พื้นที่ 20 ไร่ ที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จ.อุบลราชธานี บริหารจัดการนั้นแบ่งโมเดลต้นแบบพอเพียงเป็น 3 กลุ่มสำคัญ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กลุ่มแรกคือ Food Forest จะแบ่งพื้นที่สำหรับสวนป่า อาหาร ปลูกพืช 5 ระดับ สมุนไพร และทำประมงขนาดกลาง กลุ่มที่ 2 คือ Farm for Love ปลูกพืชผักกินใบ ผักพื้นบ้าน พืชระยะสั้น และเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มที่ 3 คือ Food for Life เน้นการทำนาข้าว และเลี้ยงสัตว์ จะสามารถสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้ประชาชนได้ ถือเป็นการทำงานเชิงรุก ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับพื่นที่อื่นๆ ได้ ให้กับ “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต” จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวถึงการรณรงค์ให้คนสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น โดยรณรงค์ให้ทุกส่วนราชการสวมใส่ผ้าไทย เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 2 วันว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยโดยเฉพาะผ้าไทยตลอดกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผ้าไทยได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ซึ่งดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้เชิญชวนกรมการพัฒนาชุมชนมาร่วมมือกันในการรณรงค์ใส่ผ้าไทย โดยกรมฯ จะเชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและข้าราชการใส่ผ้าไทยทุกวัน ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างมั่นคง เพราะเป็นรายได้ที่ส่งกลับไปยังชุมชนอีกด้วย

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ