ชุมพร-ผู้นำชุมชนหนุนมาตรการงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้ทำให้ชุมชนกลับมาสงบลดปัญหา สิ่งสำคัญลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
นายเทิดศักดิ์ ขนอม นายกอบต.เขาค่าย อ.เขาค่าย จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ที่ตำบลเขาค่ายเป็นชุมชนใหญ่ มีประชาชนต่างถิ่นเข้ามาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก จึงเป็นตำบลที่มีความเสี่ยงสูงจากการเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องมีมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างแข้มแข็ง โดยนโยบายผู้ว่าฯชุมพร เรื่องห้ามขายเหล้าจังหวัดชุมพรเริ่มวันที่ 12 เม.ย.เป็นเรื่องที่ดีมาก ทำให้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนลดลง ครอบครัวอยู่กันอย่างสงบ ไม่เดือดร้อนเลย เราจึงมีการขอความร่วมมือแบบเชิงรุก จัดทำป้าย “ร้านนี้ไม่ขายเหล้า”เพื่อติดประกาศไว้หน้าร้านค้า ร้านค้าทุกร้านที่ขายเหล้ากว่า 40 - 50 แห่งเห็นด้วย เพราะเห็นปัญหาที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงในชุมชน
ทั้งนี้ ต.เขาค่ายได้ร่วมรณรงค์งดเหล้า กับเครือข่ายงดเหล้า และ สสส. มาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันเรามีชมรมคนเลิกเหล้าตลอดชีวิต “คนหัวใจเพชร” โดยตนเป็นประธาน หลังจากที่ทราบว่าทางจังหวัด ไม่ได้ต่อเวลาห้ามขายเหล้าออกไป จึงได้หารือร่วมกับผู้นำชุมชน อสม. และชมรมคนหัวใจเพชร คนเลิกเหล้า ต่างก็เห็นพ้องกันว่า เราควรขอความร่วมมือร้านค้าต่าง ๆ ไม่ขายเหล้าต่อไป จนกว่าจะแน่ใจว่าปัญหาไวรัสโควิด-19 จะดีกว่านี้ ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย ส่วนทางผู้ประกอการค้าขายเองก็ยังไม่ได้มีการเรียกร้องใดๆ ซึ่งทุกร้านค้าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
“ตอนนี้เราต้องพยายามลดความเสี่ยงต่างๆ และให้ทุกคนดูแลรักษาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยไม่ประมาท เชื้อโรคอาจจะกลับมาระบาดได้อีก และอาจหนักขึ้นกว่าเดิม หากยังสามารถงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกออล์ ก็อาจจะสามารถชะลอการแพร่ระบาดออกไปได้ ส่วนผลกระทบด้านเศรฐกิจจากปัญหาไวรัสโควิดในชุมชนนั้น อาจมีกระทบบ้าง ด้วยชาวชุมชนเขาค่ายเราจะเป็นเกษตรกร 100% และเป็นช่วงที่รอผลผลิตอยู่ จึงยังไม่ค่อยเห็นผลกระทบชัดเจนมากนัก สำหรับพ่อค้าแม่ค้าเราจะมีตลาดนัดเล็กๆให้ได้ค้าขาย ได้ซื้อของ แต่เราจะมีมาตรการดูแลควบคุมการเข้า-ออก เป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างทั่วถึง โดยมีการตรวจวัด และมีเจลล้างมือช ทั้งนี้ ร้านค้าต่างๆ ที่ยังขายเหล้าไม่ได้ยังสามารถขายอย่างอื่นได้ตามปกติ ไม่ได้เดือดร้อน และมีข้อดีที่ชุมชนสงบเรียบร้อย"นายกอบต.เขาค่ายกล่าว
ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า จากการห้ามขายแอลกอฮอล์ในระยะเวลาประมาณ 20 วันทั่วประเทศ ทำให้เกิดผลที่ดีตามมา โดยเฉพาะปัญหายากๆ ที่เคยเจอเป็นประจำเป็นเทศกาลนับศพคืออุบัติเหตุ ดื่มแล้วขับในช่วงสงกรานต์ ซึ่งผลจากการห้ามขายและงดกิจกรรมรื่นเริงทำให้ลดผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากการดื่มแล้วขับได้กว่า 76% นอกจากนั้น ทำให้จำนวนผู้ที่งดการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 70% ซึ่งอาจจะเกิดจากการเกรงกลัวเรื่องไวรัส และไม่มีจัดเลี้ยง ไม่มีขาย อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มดื่มแบบสังสรรค์และกลุ่มที่ดื่มเป็นประจำทุกวันที่บ้าน ที่ยังคงไม่ลดการดื่มลง
ทั้งนี้ นโยบายห้ามขายแอลกอฮอล์ ในบางช่วงเวลา เป็นมาตรการที่พิสูจน์ว่าช่วยลดปัญหาได้ โดยกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ห้ามขายในวันสำคัญทางศาสนา 5 วัน พบว่า ปัญหาต่างๆลดลงสอดคล้องกับที่เกิดขึ้นในช่วงห้ามขายช่วงแพร่ระบาดโควิด-19 ดังนั้น ยุคหลังโควิดไปแล้ว การสร้าง new normal ที่ให้สังคมมีความปลอดภัย ส่งเสริมสุขภาพที่ดี รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ควรให้น้ำหนักกับการควบคุมสินค้าแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ต้องเอาจริงเรื่องการโฆษณา การจัดโปรโมชั่น และควรมีมาตรการห้ามขายในช่วงเวลาที่มีปัญหา เช่น เทศกาลสงกรานต์ หรือ ควรต้องลดเวลาขาย และลดจำนวนใบอนุญาตขายลง
“เรายอมทำทุกอย่างเพื่อสกัดไม่ให้ไวรัสโควิด-19 จนระบบการแพทย์เรารับไม่ได้ และทำให้มีผู้เสียชีวิตต่ำมาก ดังนั้น เราควรทำแบบเดียวกันกับสินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบสุขภาพและการเจ็บป่วยเสียชีวิต ในโรค NCD อุบัติเหตุ ความรุนแรงในสังคม ดังนั้น การสร้าง new normal หลังโควิด-19 คือการเข้มงวดกับสินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มดื่มแบบสังสรรค์และกลุ่มที่ดื่มเป็นประจำทุกวันที่บ้าน ที่ยังคงไม่ลดการดื่มลง การงดขายทุกจังหวัด 1 เดือนจะประหยัดเงินให้คนไทย 2-3 หมื่นล้านบาท เปลี่ยนค่าน้ำเมาไปเป็นค่าอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐเลย” นายธีระกล่าว