THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

23 เมษายน 2563 : 20:10 น.

สสส. รวมพลังภาคีการอ่าน ใช้นิทาน 3 เรื่อง “ล้างมือกันเถอะ”-“อานีสกับกอล์ฟสู้โควิด-19”- “อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน...ต้านโควิด” มอบให้ อสม.-แกนนำส่งเสริมการอ่าน ส่งต่อถึงมือพ่อแม่ 7 หมื่นเล่ม บรรเทากังวล-ตระหนก-เครียดในผู้ปกครอง

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงวัฒนธรรม สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เครือข่ายฮักอ่าน สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร สมัชชาสุขภาพจังหวัดยโสธร และ The International Union of Food, Agricultural, Hotel, Restaurant, Catering, Tobacco and Allied Workers' Associations (IUF) จัดทำนิทาน 3 เรื่อง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกัน COVID-19 ในเด็กเล็กขึ้น เพราะเด็กเล็กสามารถเรียนรู้ จดจำ และดูแลตนเองได้จากการเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครที่ชื่นชอบในนิทาน พร้อมส่งเสริมให้ครอบครัวมีกิจกรรมสร้างสรรค์พัฒนาลูกช่วงเวลาอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ช่วยให้เด็ก ๆ มีสุขภาวะรอบด้าน ทั้งด้านอารมณ์ สังคม ไอคิว อีคิว และความคิดสร้างสรรค์

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ในสถานการณ์โรคระบาด การสร้างสรรค์นิทานและกิจกรรมที่ทำให้เด็กเล็ก ได้เรียนรู้เรื่องสุขภาพจึงมีความสำคัญ นิทาน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1. “ล้างมือกันเถอะ” 2. เรื่อง “อานีสกับกอล์ฟสู้โควิด-19” และ 3. เรื่อง “อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน...ต้านโควิด” ผลิตจำนวน 70,000 เล่ม เพื่อส่งมอบแก่เด็กเล็กผ่านเครือข่ายชุมชนปฎิบัติการส่งเสริมการอ่าน และ อสม. ทั่วประเทศ โดยได้นำร่องส่งมอบนิทานเรื่อง “อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน...ต้านโควิด” แก่พื้นที่สาธารณสุขจังหวัดยโสธร ผ่าน อสม. จำนวน 3,500 เล่ม

นายชีวัน วิสาสะ ผู้เขียนนิทาน “อีเล้งเค้งโค้ง อยู่บ้าน...ต้านโควิด” กล่าวว่า แรงบันดาลใจเกิดขึ้นเมื่อมีประกาศภาวะฉุกเฉินให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเพื่อเลี่ยงการรับเชื้อจากสถานที่สุ่มเสี่ยง กลับกันบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งตรวจ รักษา พัฒนาตัวยาต้านไวรัส ในฐานะนักเขียน นักออกแบบการสื่อสารกับเด็ก ต้องผลิตสื่อให้ความรู้เพื่อปกป้องเด็ก พ่อแม่สามารถนำไปใช้เป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ ใช้เวลาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และบรรเทาอาการกังวล ความตระหนก ความเครียด การออกแบบนิทานเรื่องนี้ยังทิ้งท้ายด้วยการส่งสารขอบคุณแพทย์ พยาบาลบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย

ทั้งนี้ สามารถอ่านและดาวน์โหลด ได้ทาง www.happyreading.in.th ส่วนหนึ่งจะจัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่รณรงค์ในชุมชนเครือข่าย อาทิ จังหวัดยโสธรจะมีการประเมินผลเป็นงานวิจัยของการสร้างสุขภาวะชุมชนด้วยการอ่านเพื่อให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด หน่วยงาน หรือองค์กรใดสนใจสนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่เพิ่มเติม ติดต่อ happy2reading@gmail.com : แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ