ชัยภูมิ-สตรีเมืองเจ้าพ่อพญาแลรวมพลังกับกรมการพัฒนาชุมชนและสภาสตรีแห่งชาติฯร่วมรณรงค์ปลุกใส่ผ้าไทยเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ (MOU) เรื่อง "โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" กับนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผวจ.ชัยภูมิ และ นางวันดี วุ่นซิ้ว นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชัยภูมิ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรมสยามริเวอร์ รีสอร์ท จ.ชัยภูมิ
ทั้งนี้ ก่อนลงนามได้มีการฉายวีดิทัศน์โครงการ “สตรีอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยชัยภูมิ” และการแสดงชุด “ตำนานผ้าไหมชัยภูมิ” ปิดท้ายด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าพื้นอัตลักษณ์และผ้าไหมจากทั้ง 16 อำเภอของจ.ชัยภูมิ โดยมี คณะกรรมการพัฒนาสตรีและผู้แทนจากทุกอำเภอร่วมเดินแบบ เพื่อโชว์ความสวยงามของผ้าพื้นถิ่นของอำเภอและผ้าไหมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจ.ชัยภูมิ รวมถึง "ผ้าไหมลายหมี่คั่นขอนารี" ซึ่งเป็นการผสมผสานลายหมี่คั่นโบราณเข้ากับลายหมี่ขอนารี เกิดเป็นลายผ้าที่สวยงามอันเป็นลายอัตลักษณ์ของจ.ชัยภูมิ
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่าสภาสตรีแห่งชาติฯ ได้ดำเนินงานในโครงการแรกเริ่มคือ "โครงการติดตามรอยผ้าไทยลมหายใจแม่ของแผ่นดิน" จนมาถึงโครงการที่ 2 " โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน" เพื่อรณรงค์ให้ทั่วประเทศไทยภาคภูมิใจในคุณค่าของผ้าไทย และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป จึงขอให้ทุกคนภาคภูมิใจในการแต่งกายผ้าไทย โดยเฉพาะชาวชัยภูมิขอให้ภูมิใจและรักษาอัตลักษณ์ผ้าไทยอันโดดเด่นของชาวชัยภูมิ
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ขอชื่นชมชาวจังหวัดชัยภูมิได้ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี มีศิลปวัฒนธรรมที่ยังคงสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ อาทิ การรำถวายเจ้าพ่อพญาแล รำสาวบ้านแต้ ความเข้มแข็งขององค์กรสตรี การรณรงค์ส่งเสริมผ้าไทยของจ.ชัยภูมิจะช่วยให้อนาคตของผ้าไทยยังคงมีชีวิตสืบทอดสู่ลูกหลานรุ่นต่อไปได้อีกยาวนาน สมดั่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทุ่มเทอุทิศพระวรกาย พระสติปัญญา และพละกำลัง กว่า 60 ปีในการที่จะช่วยต่ออายุให้ผ้าไทยในประเทศนี้ดำรงอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการสวมใส่ผ้าไทยจะก่อให้เกิดการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจในครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น จ.ชัยภูมิมีผู้ประกอบการ/กลุ่มสตรีที่ทอผ้ารวมกันมากกว่า 2,000 กลุ่ม ทั้งรายเล็กรายใหญ่ ทำให้เกิดรายได้จุนเจือครอบครัว และ หากมีประชากร 35 ล้านคนที่หันมาสวมใส่ผ้าไทย จะก่อให้เกิดรายได้ คิดง่าย ๆ จากถ้าซื้อเพิ่มอีก 1 ชุด ต้องซื้อผ้าเพิ่มอีกคนละ 1 เมตร ก็จะเป็น 35 ล้านเมตร ถ้าคิดมูลค่าเป็นเมตรละ 300 บาท จะได้เงินมากกว่า 105,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้ก็จะหมุนเวียนอยู่ในชุมชน
อย่างไรก็ตาม ทั้งคนปลูกฝ้ายปลูกหม่อนเลี้ยงไหมคนที่ทอผ้า รวมถึงคนที่มีอาชีพเย็บจักรถักเสื้อผ้าประดิษฐ์ประดอยเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ ก็กระจายไปยังกลุ่มค้าขายอื่น ๆ คุณประโยชน์เหล่านี้มีค่าไม่ใช่แค่ตัวเลขที่เป็นตัวเงิน แต่มีความสำคัญที่สุด คือ คุณค่าทางจิตใจที่ได้สืบสาน รักษา ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ