นครราชสีมา-พช.ผนึกสภาสตรีแห่งชาติฯลงนามความร่วมมือกับ 45 หน่วยงานในโคราชหนุนใส่ผ้าไทยทั้งจังหวัด เพื่อร่วมอนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่นให้คงอยู่และปลุกเศรษฐกิจชุมชน
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ศูนย์ประชุมโคราช ฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา นครราชสีมา จ.นครราชสีมา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสมาคมสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน กับ นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผวจ.นครราชสีมา โดยมี กลุ่มองค์กร ภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย ในจ.นครราชสีมา จำนวน 45 หน่วยงานร่วมลงนามด้วย
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า การดำเนินโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกันดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปลายปี 2562 มีความมุ่งหมายให้ทุกคนได้สืบสานรณรงค์ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานการใส่ผ้าไทย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระองค์ได้ทรงมีเมตตาต่อปวงชนชาวไทย นานนับหลาย 10 ปี ด้วยพระปรีชาชาญ พระวิริยะอุตสาหะ พระองค์ได้รื้อฟื้นผ้าไทยขึ้นมา
ทั้งนี้ ผ้าไทยเป็นวัฒนธรรมของไทย ชนชาติใดในโลกที่มีความเจริญก็จะมีวัฒนธรรมของตนเอง โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบันทั่วโลกได้รับผลกระทบไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ต้องมาพัฒนาสภาพศักยภาพของตนเองในทุกมิติ หากประชาชนคนไทยเพียงแค่ครึ่งหนึ่ง ของประเทศจำนวน 35,000,000 คน หันมาสวมใส่ผ้าไทยในทุกวันทุกคนช่วยกันซื้อผ้าไทยเพิ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ้าไหมจากปักธงชัย ก็จะทำให้ผ้าไทยขายได้และยังกระจายรายได้สู่ชุมชน
ดร.วันดีกล่าววว่า อยากให้สตรีในจ.นครราชสีมารักษาอัตลักษณ์ผ้าไทยของพื้นที่ไว้ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และใส่ผ้าไทยทุกวัน เชื่อว่าทุกคนจะต้องซื้อผ้าเพิ่มอย่างน้อยคนละ 10 เมตร หากสตรี 35 ล้านคน ใส่ผ้าไทยคนละ 10 เมตร รวม 350 ล้านเมตร เมตรละ 300 บาท เราจะช่วยให้เกิดเงินหมุนเวียนทันที 1 แสนล้านบาท นอกจากเราจะช่วยรักษาวัฒนธรรมแล้ว เรายังช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง
ด้านนางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า จ.นครราชสีมามีผ้าไทยที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละอำเภอ สิ่งที่อยากเห็นคือการที่ลูกหลานได้รับการถ่ายทอดฝีมือภูมิปัญญา ไม่ใช่แค่การนำมาสวมใส่ เราไม่จำเป็นต้องเป็นต้นน้ำ เราเป็นกลางน้ำก็ได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ปลายน้ำเราก็จะมีโอกาสที่สนับสนุนคนทอผ้า ซึ่งเป็นอาชีพที่สำคัญเพราะได้ช่วยสืบสานรักษาและต่อยอดมรดกให้อยู่คู่กับลูกหลาน และช่วยสร้างความมั่นคงในเรื่องการทอผ้าด้วย
ด้าน นายศักดิ์สิทธิ์ รองผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า จ.นครราชสีมามีความหลากหลายในเรื่องผ้าพื้นเมือง จะมีอัตลักษณ์ที่สวยงามแตกต่างกันไป เช่น ผ้าซิ่นยวน อ.สีคิ้ว ผ้าเงี่ยงนางดำอ.สูงเนิน ผ้าไหมลายขอนากน้อยอ.บัวลาย ผ้าลายไขว้ตาล่องอ.ลำทะเมนชัย ผ้าลายสีทาสาธรอ.ประทาย ผ้าทอซับระวิงอ.ครบุรี เป็นต้น การทำเอ็มโอยูครั้งนี้จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่จะสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันในการเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมโดยทั่วกัน