กาญจนบุรี-อุทยานแห่งชาติเขาแหลมพบ"กบสังขละ-งูหางแฮ่ม"ที่ อ.ทองผาภูมิ สัตว์ป่าหายากไม่เจอมานานกว่า 20 ปี ส่งนักวิจัยเร่งหาทางอนุรักษ์
เมื่อวันที่ 3 ก.พ.นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เจ้าหนาที่ได้ค้นพบสัตว์ป่าหายากที่ไม่เคยพบในป่าธรรมชาติมาแล้วกว่า 20 ปี คือ กบสังขละ ที่คณะนักวิจัยมาเจอที่อุทยานฯ เขาแหลม นอกจากนี้ยังพบ งูหางแฮ่ม ที่จัดอยู่ในกลุ่มงูเขียวหางไหม้ เดิมทีคิดว่าสัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่กลับมาเจอในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม
สำหรับ กบสังขละ ชื่อสามัญ : Cope's Frog ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrophylox leptoglossa (Cope's1868) สถานที่พบครั้งแรก ใกล้เมืองย่างกุ้ง (Rangoon) ประเทศเมียมา ส่วนชื่อไทยมาจากสถานที่พบครั้งแรกในประเทศไทยที่อ.สังขละบุรี เป็นกบขนาดกลาง ความยาวจากหัวถึงก้นราว 5 เซนติเมตร หน้ายาวแหลม แผ่นหูสีน้ำตาลเข้มปรากฏชัดเจน ปลายนิ้วเรียว มือไม่มีพังผืดเล็กน้อย หลังสีน้ำตาลเทา มีลายและสีดำ
ทั้งนี้ บนหลังมีเส้นสีครีมถึงสีส้มจากปลายจมูกผ่านเหนือตาไปตามเหนือสีข้างถึงก้น มีแถบสีดำจากจมูกพาดตาและแผ่นหูยาวไปตามใต้แนวสันลำตัว สีข้าง และท้องสีขาวครีมแต้มลายสีน้ำตาลเข้ม ขาหลังมีลายพาดสีน้ำตาลเข้ม ริมฝีปากสีครีมสลับน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีขาวจนถึงมุมปาก
สำหรับ งูหางแฮ่ม เป็นงูพิษเขี้ยวหน้าขนาดกลางในกลุ่มงูเขียวหางไหม้ (Pit Viper) มีรายงานการพบเฉพาะในพื้นที่เขาหินปูน จ.กาญจนบุรี เท่านั้น โดยมีรายงานการพบครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จ.กาญจนบุรี เป็นที่มาของชื่อสามัญที่นิยมใช้เรียกกันว่า “Kanburi Pit Viper” จะอาศัยอยู่ตามเขาหินปูนในป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ความยาวลำตัวตั้งแต่ปลายจมูกถึงปลายหางเฉลี่ย 40 เซนติเมตร มีพฤติกรรมดักซุ่มโจมตีเหยื่อ โดยการขดตัวอยู่นิ่งๆ แล้วรอให้เหยื่อเข้ามาใกล้ จึงจับกินเป็นอาหาร
งูหางแฮ่ม ออกหากินทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน กินตุ๊กแกป่า จิ้งจกดิน จิ้งจกหิน กบ เขียด และอึ่งอ่างขนาดเล็ก ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 5-10 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ของแม่งู ช่วงฤดูผสมพันธุ์และฤดูกาลที่ออกลูกยังไม่มีการศึกษาและมีข้อมูลที่แน่ชัด สำหรับข้อมูลพื้นฐานของงูหางแฮ่มกาญจน์ในด้านอื่นๆนั้นยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก
อย่างไรก็ตาม การพบกบสังขละและงูหางแฮ่มในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าพื้นที่อุทยานฯ เขาแหลมมีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายในระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งพืชและสัตว์ป่านานาชนิดที่เหมาะสำหรับการศึกษาวงจรชีวิตสัตว์ป่าหายากต่างๆ
ภาพ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม