ขอนแก่น-ม.ขอนแก่นสุดยอดผลิตขาเทียมให้ม้าสำเร็จชิ้นแรกของประเทศ ทำให้ให้ม้าพิการสามารถกลับมาเดินวิ่งได้ตามปกติ เตรียมต่อยอดทำวิลแชร์และขาเทียมสัตว์ชนิดอื่นๆ
เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่คลินิกสัตว์ใหญ่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น (มข.)ผศ.สพญ.สุพรรณิกา พุทธชาลี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. , ผศ.นพ.พลากร สุรกุลประภา หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มข. ,รศ.นพ.ณัฐเศรษฐ มนิมนากร หัวหน้าภาควิชา เวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มข. พร้อมทีมช่างหน่วยกายอุปกรณ์เสริมและเทียม ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มข. และคณะอาจารย์ นักศึกษาแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข. นำชม "ปู่บอนไซ" ม้าแคระ อายุ 23 ปี อดีตแชมป์ม้าหล่อระดับโลก ปัจจุบันใช้ชีวิตเพียง 3 ขา โดยทางมข.ได้ทำขาเทียมให้ปู่บอนไซ ม้าแคระตัวนี้ขึ้นชิ้นแรกของประเทศไทย ใช้งานได้จริงทดแทนขาที่เสียไป จนสามารถเดิน - วิ่งได้สะดวกขึ้น
ผศ.สพญ.สุพรรณิกา พุทธชาลี อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มข.กล่าวว่า ปู่บอนไซ เคยอาศัยอยู่ที่ฟาร์มแห่งหนึ่ง ในจ.สุพรรณบุรี แต่เกิดอุบัติเหตุเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้ต้องทำการรักษาด้วยการตัดขา และใช้ชีวิต 3 ขามาตั้งแต่หลังผ่าตัด การที่ปู่บอนไซมีแค่ 3 ขา ทำให้ขาหลังรับน้ำหนักจำนวนมาก จนเกิดการผิดรูปที่ขาหลังด้านขวา
"คณะอาจารย์และนักศึกษาของคณะ สัตวแพทยศาสตร์ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ จ.สุพรรณบุรี บังเอิญพบกับปู่บอนไซ พบว่าขาขวาด้านหลังต้องรับน้ำหนักจนผิดรูป และอักเสบสร้างความเจ็บปวดจนปู่บอนไซไม่เดินอีกเลย จึงได้ปรึกษากับเจ้าของ เพื่อขอให้พาไปดูแลที่ม.ขอนแก่น เนื่องจากสงสารปู่บอนไซต้องใช้ชีวิตด้วยความเจ็บปวด กระทั่งทำขาเทียมให้กับปู่บอนไซ จนสำเร็จโดยฝีมือของทีมช่างหน่วยกายอุปกรณ์เสริมและเทียม ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ "ผศ.สพญ.สุพรรณิกากล่าว
ทั้งนี้ ครั้งแรกที่สวมใส่ขาเทียมให้กับปู่บอนไซนั้น ปู่บอนไซเตะขาไม่ยอมใส่ และวันที่ 2 ได้ลองสวมใส่ให้อีกครั้ง ปู่บอนไซได้ยอมใส่แต่ยังไม่กล้าเดิน และวันที่ 3 ปู่บอนไซเริ่มเดิน และวิ่งตามลำดับ ปรากฏว่า เป็นขาเทียมม้าชิ้นแรกที่ประสบผลสำเร็จช่วยให้ปู่บอนไซมีขาที่ 4 ใช้ชีวิตตามปกติแล้ว แต่บางครั้งถ้าปู่บอนไซยืนกินหญ้านานๆ ก็จะเผลอลืมตัวคิดว่าตัวเองมี 3 ขาอยู่ ก็จะปล่อยขาซ้ายที่พิการ ทางผู้ดูแลจึงต้องคอยช่วยในช่วงแรกให้ปู่บอนไซจดจำได้ว่ามีขาเทียมมาใส่ให้ และในส่วนขาขวาด้านหลังที่ผิดรูปนั้น ทางคณะฯก็จะดูแลรักษาตามขั้นตอนจนสามารถกลับมาให้เป็นปกติให้ได้มากที่สุดต่อไป
ขณะที่ รศ.นพ.ณัฐเศรษฐ มนิมนากร หัวหน้าภาควิชา เวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มข. กล่าวว่า ปกติแล้วคณะแพทยศาสตร์ ทำขาเทียมให้กับผู้ป่วยอยู่แล้ว จึงได้ให้ทีมช่างลงพื้นที่มาวัดขนาด ทำขาเทียมม้าชิ้นแรกขึ้น กระทั่งสำเร็จ ม้าปรับตัวได้เร็วจนสามารถเดินได้ด้วยขาเทียม และในอนาคตทางทีมช่างก็จะได้พัฒนาขาเทียมของม้าแคระตัวนี้ด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานและไหลลื่นเป็นปกติมากที่สุด นอกจากนี้ทางคณะแพทย์เองก็จะได้มีการต่อยอดด้วยการทำวีลแชร์ให้กับสัตว์ชนิดต่างๆได้ใช้ในการดำรงชีวิต และขาเทียมสำหรับสัตว์ใหญ่ชนิดอื่นๆต่อไปด้วย