THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

19 มกราคม 2563 : 14:52 น.

ภูเก็ต-ชาวเล 5 จังหวัดอันดามันเรียกร้องรัฐอย่าทิ้งชาวเลไว้ข้างหลัง พร้อมยื่น 8 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯรับไปดำเนินการ

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธีเปิดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 10 "10ปี มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล สู่กฏหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์" โดยมี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และ ชาวเลจาก 5 จังหวัดอันดามันเข้าร่วมพิธีฯ ณ หน้าหาดราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นางแสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่า การจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 10 ในวันนี้ มีความสำคัญต่ออนาคตของพวกเราอย่างยิ่ง วันนี้พี่น้องชาวเลมาร่วมกันกว่า 500 คน จาก 5 จังหวัด ในทะเลอันดามัน อันเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสวยงามระดับโลก พวกเราเป็นชนพื้นเมืองตั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่ทะเลอันดามันมากว่า 300 ปี มี 3 เผ่าคือ มอแกน มอแกลน อูรักราโวย พวกเราหาอยู่หากินแบบพอเพียง และพึ่งพิงธรรมชาติ แต่มาวันนี้เมื่อมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาการท่องเที่ยวการประกาศเขตอนุรักษ์ทั้งทางทะเลและในเขตป่า ทำให้วิถีชีวิตของพวกเราถูกบีบคั้นอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวีชีวิตชาวเลและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแผนไปปฏิบัติ ทั้งการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงโดยผ่อนปรนพิเศษในการใช้อุปกรณ์ตั้งเดิม การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติ การส่งเสริมด้านการศึกษาหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวเล การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมด้านภาษาวัฒนธรรม การส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล

"ผ่านมา 10 ปี ปัญหาของพวกเราชาวเลยังไม่ได้รับการแก้ไข แถมยังมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น 10 ปีแล้วที่เสียงเรียกร้องของพวกเราหายไปกับสายลม พวกเรายังถูกทิ้งไว้ข้างหลังและถูกละเมิดสิทธิมาอย่างต่อเนื่อง พวกเรามีประมาณ 12,000 คน รวม 44 ชุมชน กระจายใน 5 จังหวัดได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล มีปัญหาหลายอย่าง

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย 2.สุสานและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน 3.ถูกฟ้องขับไล่โดยธุรกิจเอกชน ออกเอกสารมิชอบทับชุมชน 4.ปัญหาที่ทำกินในทะเล 5.พื้นที่หน้าชายหาดซึ่งทุกคนควรใช้ร่วมกัน 6.ปัญหาเรื่องการศึกษาภาษาและวัฒนธรรม 7.ปัญหาเรื่องสุขภาวะ และ 8.ปัญหาการไร้สัญชาติ

นอกจากนั้น ปัญหาชาวเลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานาน และเกี่ยวข้อง กับ หลายกระทรวงทำให้ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่อาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี 2 มิ.ย.53 เพียงอย่างเดียว ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามารถคุ้มครองเขตพื้นที่วัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และเอื้อต่อการแก้ปัญหาที่สั่งสมมานาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังตามนโยบายรัฐบาล "นางแสงโสม กล่าว

ด้าน นายพงศ์บุญย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2553 ครม.เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการพื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบกับประเทศไทยได้รับรองปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมืองที่สหประชาชาติได้ประกาศไว้ และไทยได้รับรอง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่งหัวใจสำคัญ คือการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 70 ระบุ " รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน"

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและพัฒนาชาวเลรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลได้ตั้งกลไกในการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และในรัฐบาลนี้ได้ตั้งอนุกรรมการแก้ปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเลและชาวกะเหรี่ยง โดยได้มอบหมายให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯเป็นประธานอนุกรรมการฯ และได้รับทราบว่า ชาวเล ยังคงมีปัญหาอีกหลายประการ มีทั้งปัญหาเร่งด่วนและปัญหาที่จำเป็นจะต้องมีกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะรับเรื่องราวต่างๆไปหาแนวทางแก้ไขและเสนอต่อรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ