แพร่-พช.ผนึกสภาสตรีแห่งชาติฯลงนามความร่วมมือกับจ.แพร่หนุนชาวบ้านสวมใส่ผ้าไทยอนุรักษ์ภูมิปัญหาดั้งเดิมให้คงอยู่สืบไป พร้อมปลุกเสื้อม่อห้อมให้กลับมามีชีวิต
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่โรงแรมแม่ยมพาเลส อ.แพร่ จ.แพร่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) และ นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผวจ.แพร่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยก่อนลงนามได้มีการแสดงโชว์อัตลักษณ์ผ้าไทยของจ.แพร่ ด้วยการเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไทย ผ้าไทยประยุกต์ จากแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับสากลที่ออกแบบและผลิตโดยคนแพร่ จำนวน 14 แบรนด์ อาทิ อัญชิ กฤษณะ เลอโซเลย์ เป็นต้น ทำให้เห็นถึงความสวยงาม น่าสวมใส่ และใส่ได้ทุกวัน ทุกโอกาส
สำหรับ การลงนามบันทึกข้อตกลงความความร่วมมือ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยอันมีอัตลักษณ์และทรงคุณค่า ศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ทั่วโลกได้ชื่นชม อีกทั้งช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยเน้นในกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างหน่วยงานของรัฐให้ใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งทุกคนได้มีส่วนร่วมสืบสาน อนุรักษ์ผ้าท้องถิ่นไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และที่สำคัญเพื่อเป็นสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่น
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่า ภารกิจของสภาสตรีแห่งชาติฯกิจกรรมหลักจะเป็นเรื่องของสตรี มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพอาชีพสืบสานโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง เมื่อได้ทำโครงการอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน ทำให้เข้าใจถึงกรรมวิธีการผลิตการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นงานทรงคุณค่าและเป็นงานภูมิปัญญาที่สืบทอดสู่รุ่นหลานดังนั้น หาก 35 ล้านคน หันมาใส่ผ้าไทยก็จะสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากสู่ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน สืบสานภูมิปัญญา ซึ่งในวันนี้จ.แพร่ได้จัดงาน 1191 ปี คือสิ่งที่สืบทอดจากบรรพบุรุษที่ต้องรักษาไว้อย่างยิ่ง
ด้าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.)กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติฯ ได้คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 ทรงให้ชาวบ้านทอผ้าเพื่อไปตัดชุดฉลองพระองค์และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าผ้าและส่งเสริมพัฒนาฝีมือและจัดประกวดการทอผ้าทำให้พวกเราได้ทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านให้ตระหนักถึงความเป็นตัวตนของคนไทยผ่านการทอผ้า ดช่น การสวมใส่ผ้าหม้อห้อมของคนแพร่ ที่เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจน ดังนั้นเราต้องร่วมมือกันในการเชิญชวนภาคีเครือข่ายในจังหวัดร่วมถึงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนในการร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย หากคนไทย 35 ล้านคนใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้นคนละ 10 เมตร เมตรละ 300 บาท จะสร้างรายได้ 105,000 ล้านบาท
"รายได้ดังกล่าวจะกระจายถึงคนในชุมชนและอีกหลายชีวิต จะทำให้เศรษฐกิจของชาติเกิดการหมุนเวียนเกิดความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มรวมทั้งแสดงถึงการมีวัฒนธรรมที่ดีงาม จ.แพร่มีศิลปินแห่งชาติคนสำคัญได้แก่ แม่ประนอม ทาแปง ท่านมีส่วนช่วยทำให้งบประมาณของกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับงบประมาณในการพัฒนางบโอทอป ในปี 2563 อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จ.แพร่มีผ้าหม้อห้อม อันเป็นสีเดียวกับกรมการพัฒนาชุมชน ผมคงต้องสั่งซื้อผ้าหม้อห้อมแล้วใส่ตรากรมการพัฒนาชุมชนให้เจ้าหน้าที่ใส่ทำงานสัก 1 วัน โดยจะคัดเลือกร้านที่มีกำลังการผลิตและจะคัดเลือกแบบอีกครั้งนึง "นายสุทธิพงษ์กล่าว
นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผวจ.แพร่ กล่าวว่า จ.แพร่มีทรัพยากรไม้สักทองที่สวยที่สุด มีวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์และมีผ้าหม้อฮ้อมที่สืบทอดมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งขณะนี้ได้มีการพัฒนาให้กว้างไปสู่ความเป็นสากล ในโอกาสนี้ขอขอบคุณท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ที่ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์ผ้าถิ่นไทย จนเกิดโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดินครั้งนี้