นครราชสีมา-นร.ช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ไล่ราหูรีบคายดวงอาทิตย์ตามความเชื่อโบราณ ขณะที่ชาวโคราชตื่นตัวแห่ดูปรากฎการณ์ทางธรรมชาติกันอย่างคับคั่งได้ดูเต็มตา 52.48%
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีประชาชน นักเรียน นักศึกษา กว่า 500 คน เดินทางมาชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนกันอย่างคึกคัก โดยทางเจ้าหน้าที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบฯ ได้จัดอุปกรณ์สำหรับชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ไว้ให้หลายชนิด
ทั้งนี้ อาทิ แว่นตาดูดวงอาทิตย์, กล้องโทรทัศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์, กล้องโทรทัศน์ติดแผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ, หน้ากากยอดมนุษย์ ที่มีการนำฟิล์มกรองแสงมาติดบริเวณดวงตา และกล้องรูเข็มที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งนอกจากจะดูเงาดวงอาทิตย์ได้แล้ว ยังใช้เพื่อเคาะไล่ความชั่วร้าย ตามความเชื่อโบราณได้อีกด้วย เป็นต้น ซึ่งเริ่มเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาขึ้น ตั้งแต่เวลา 10.19 น. ถึงเวลา 13.57 น.
สำหรับ นส่วนของพื้นที่ จ.นครราชสีมา ดวงอาทิตย์จะเริ่มถูกบดบังเป็นสุริยุปราคา ตั้งแต่เวลา 10.19 น. และดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุด ประมาณ 52.48 % เวลา 12.11 น. ซึ่งประชาชน นักเรียน นักศึกษา ได้พากันส่องดูจากกล้องที่เจ้าหน้าที่เตรียมไว้ให้ บางส่วนก็ได้ใช้แว่นตาดูดวงอาทิตย์ และกล้องรูเข็มที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ส่องดู ด้วยความตื่นเต้น กระทั่งเมื่อถึงเวลา 12.11 น. ซึ่งดวงอาทิตย์บดบังมากที่สุดประมาณ 52.48% ผู้ร่วมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคา ก็ได้พากันนำกระบอกไม้ไผ่ที่ทำเป็นเกราะ มาเคาะกันพร้อมกันดังลั่นไปทั่วบริเวณโดยรอบอาคารโดมของหอดูดาวฯ เพื่อไล่ราหูที่อมดวงอาทิตย์ให้คายดวงอาทิตย์ออกมา ตามความเชื่อโบราณ
ด.ช.ชโยทิต จันทร์สูงเนิน อายุ 11 ปี โรงเรียนสารสาสน์วิเทศน์นครราชสีมา กล่าวว่า เคยศึกษามาว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากเงาดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ และทราบว่าทางหอดูดาวฯ ได้มีการจัดกิจกรรมชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาด้วย จึงรีบมา เมื่อได้เห็นแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะได้เห็นเป็นครั้งแรกในชีวิต
ด้านนางวราพร ดมหอม อายุ 38 ปี กล่าวว่า สุริยุปราคาถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ตนเองมีลูกอยู่ 2 คนที่กำลังเรียนอยู่ระดับประถมศึกษา จึงอยากให้มาชมด้วยตาของเขาเอง จะได้เป็นประสบการณ์ในชีวิต และจะเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ดาราศาสตร์ เรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อต่อยอดการศึกษาวิทยาศาสตร์ได้ในอนาคต