THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

13 ธันวาคม 2562 : 22:25 น.

มท.1 ตรวจเยี่ยมและติดตามแนวทางการจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ย้ำผู้ว่าฯชัยนาททำความเข้าใจกับประชาชนห้ามสูบน้ำในพื้นที่ชลประทานเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่สำนักงานชลประทานที่ 12 กรมชลประทาน จ.ชัยนาท พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมด้วย นายอนุชา โมกขะเวส ที่ปรึกษารมว.มหาดไทย คณะทำงานรมว.มหาดไทย นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผวจ.ชัยนาท และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ชัยนาท และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุป

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในวันนี้มารับทราบสถานการณ์น้ำ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าน้ำต้นทุนอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย จึงต้องบริหารจัดการการใช้น้ำให้ดี โดยให้สำคัญกับน้ำอุปโภค บริโภค ซึ่งประชาชนจะขาดน้ำไม่ได้ และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์เป็นอันดับต้น แต่หากปลูกพืชต้องเป็นพืชใช้น้ำน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการงดสูบน้ำจากพื้นที่ชลประทานโดยเด็ดขาด เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้เพียงพอกับการอุปโภคบริโภคตลอดหน้าแล้งนี้

ด้าน นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ กล่าวรายงานการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำต้นทุน 12,073 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำใช้การ 5,377 ล้านลูกบาศก์เมตร การจัดสรรน้ำฤดูแล้ง 2562/63 รวม 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นการจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลอง 500 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,150 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 29 น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 2,200 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 135 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 3 และน้ำเพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 515 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 13 ซึ่งได้ดำเนินการขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาต่อเนื่อง จัดเวทีชุมชน และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ