THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

12 ธันวาคม 2562 : 14:14 น.

นครราชสีมา-นักวิจัย มทส.โคราช ประดิษฐ์ต้นแบบเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออน เป็นผลสำเร็จ กำจัดฝุ่นละอองได้ถึง 100,000 ไมโครกรัม/ชั่วโมง เทียบเท่าประสิทธิภาพของต้นไม้ที่มีพื้นที่ใบรวมประมาณ 9 ตารางเมตร จำนวน 510 ต้น

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่อาคารสุรสัมมนาคาร ม.เทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นประธานแถลงความสำเร็จผลงานวิจัย เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออน ซึ่ง รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ นักวิจัย มทส. ได้ร่วมกันประดิษฐ์ขึ้นจากแนวคิดในการแก้ปัญหา PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีหลักการทำงานคล้ายเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในระบบปิด แต่ออกแบบใหม่ให้สามารถใช้ในระบบเปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการนำไปใช้งานได้จริง การประหยัดพลังงาน และการออกแบบให้สวยงามกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม

รศ.ดร.ชาญชัย กล่าวว่า ผลงานวิจัยเครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ด้วยประจุไฟฟ้าไอออน ใช้หลักการปล่อยประจุไฟฟ้าลบ ที่สร้างจากวงจรทวีแรงดันหลายหมื่นโวลต์ จากไฟฟ้ากระแสสลับ 220 โวลต์ขึ้นไป เป็นแรงดันไฟฟ้ากระแสตรงประมาณ 35,000 โวลต์ ค่ากระแส 18 มิลลิแอมป์ (วงจรสร้างแรงดันสูง กระแสต่ำ) และแรงดันไฟฟ้าสูง 35,000 โวลต์ เพื่อจ่ายประจุไฟฟ้าไอออนออกไปในอากาศ ผ่านปลายแหลมของแผ่นเพลททองแดง เพื่อดักจับอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 ทำให้อนุภาคฝุ่นเป็นกลางหล่นลงสู่พื้น คงเหลือแต่อากาศที่สะอาดปราศจากฝุ่นควันกลับสู่ธรรมชาติ มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เครื่องกำจัดฝุ่น PM 2.5 ต้นแบบนี้ ตัวเครื่องมีขนาด 120 ซม. x 120 ซม. x 120 ซม. ภายในบรรจุหม้อแปลงไฟฟ้า Step up และเสาปล่อยประจุไฟฟ้าทองแดงมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 200,000 บาทต่อเครื่อง แต่สามารถกำจัดฝุ่นละอองได้ถึง 100,000 ไมโครกรัม/ชั่วโมง เทียบเท่าประสิทธิภาพของต้นไม้ขนาดกลางที่มีพื้นที่ใบรวมประมาณ 9 ตารางเมตร จำนวน 510 ต้น และค่าพลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณชั่วโมงละ 1.50 บาท เท่านั้น

"ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันการกระจายของฝุ่น ลดความเสี่ยงของผู้ป่วยทางเดินหายใจและการเกิดภูมิแพ้ได้ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทีมงานและนักวิจัยคาดหวังว่า จะสามารถขยายผลและติดตั้งสู่ชุมชนเมืองที่มีปัญหาเกี่ยวกับ PM 2.5 เพื่อลดมลพิษได้ โดยสามารถออกแบบตัวเครื่องให้มีความสวยงามกลมกลืนต่อสภาพแวดล้อม และเหมาะสมต่อสถานที่ที่จะทำการติดตั้งได้ต่อไป"รศ.ดร.ชาญชัยกล่าว

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ