.
โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, จักรพันธ์ นาทันริ
การเปิดตัวการค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ “ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมี” (Phuwiang Venator Yaenniyomi) หรือนักล่าแห่งเทือกเขาภูเวียง ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ตัวที่ 10 ของประเทศไทย และเป็นตัวที่ 5 ของ จ.ขอนแก่น เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้สร้างความฮือฮา เพราะถือเป็นไดโนเสาร์เทอโรพอตขนาดกลาง สกุลและชนิดใหม่ของโลก ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ได้ขุดค้นพบที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง ณ เทือกเขาภูเวียง นับเป็นการค้นพบไดโนเสาร์ตัวที่ 10 ของประเทศไทยและตัวที่ 5 ของจังหวัดขอนแก่น
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ อุทยานแห่งชาติภูเวียง เป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ 4 สายพันธุ์ใหม่ของโลก โดยเริ่มค้นพบซอฟซิลไดโนเสาร์ชิ้นแรกเมื่อปี 2519 มีทั้งไดโนเสาร์กินเนื้อและไดโนเสาร์กินพืช รวมทั้งยังพบซากสัตว์ร่วมสมัยหลายชนิดจนปัจจุบันกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยาของขอนแก่นและที่ขึ้นชื่อของประเทศไทย
“เทือกเขาภูเวียง” แหล่งไดโนเสาร์ของไทย มีวิวัฒนาการมา พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของ “ที่ราบสูงโคราช” เริ่มมาตั้งแต่ยุคคาร์บอนิเฟอรัส (360 ล้านปีก่อน) ถึงยุคทะเลเพอร์เมียน (286-245 ล้านปีก่อน) แผ่นดินที่ถูกยกขึ้นเกิดการคลายตัวลดระดับลงกลายเป็นแอ่งสะสมตะกอนที่เราทราบกันดีในชื่อ"แอ่งโคราช"เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วยปลายยุคไทรแอสซิก (200 ล้านปีก่อน)จนสิ้นสุดไปพร้อมกับการสูญพันธุ์ของสัตว์โลกดึกดำบรรพ์ ไดโนเสาร์เมื่อปลายยุคครีเทเชียส แล้วช่วงสุดท้ายของวิวัฒนาการ (64-65 ล้านปีก่อน)
การค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ถึง 5 ตัว ณ สถานที่แห่งนี้ ทำให้ทางจ.ขอนแก่น กำลังผลักดันให้ อุทยานแห่งชาติภูเวียงเป็น “อุทยานธรณีระดับโลก” ของ Unesco (UNESCO Globat Geoparks) ซึ่งในไทยมีเพียง อุทยานธรณีสตูล ที่ได้รับการประกาศจากยูเนสโกเป็นอุทยานธรณีโลก แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงนี้ ประกอบด้วย สองอำเภอ คือ อ.ภูเวียง และ อ.เวียงเก่า ต่างมีความตื่นตัวอย่างมากกับโครงการที่จังหวัดกำลังยกระดับให้อุทยานฯ เป็นแหล่งสำคัญของโลก
ปัจจุบัน ภายในส่วนของอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียง จ.ขอนแก่น ซึ่งมีการจัดแสดงรูปปั้นไดโนเสาร์จำลองเรียงรายอยู่โดยรอบสวนสาธารณะนับร้อยตัว มีเยาวชนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ จากทั่วทั้งภาคอีสานที่ทยอยเดินทางมาศึกษา เที่ยวชมและเรียนรู้ และศึกษาเส้นทางศึกษาธรรมชาติและตามรอยนักธรณีวิทยาในแต่ละวันไม่ขาดสาย ขณะที่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติต่างเดินทางมาร่วมกิจกรรมและเที่ยวชมดินแดนไดโนเสาร์แห่งนี้กันอย่างคึกคัก
นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้า จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า วันนี้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมอุทยานไดโนเสาร์ศรีเวียงไม่ต่ำกว่าวันละ 100 คน ซึ่งยังคงไม่นับรวมการท่องเที่ยวในรูปแบบของการทัศนศึกษาจากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ติดต่อขอเข้ามาทำการศึกษาอุทยานฯห่งนี้แทบทุกวัน ขณะที่ชุมชนก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งการเป็นไกด์ท้องถิ่น การนำผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชนมาแสดงและจำหน่าย รวมทั้งการนำเสน่ห์ปลายจวักที่มีอู่ในชุมชนมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านเมนูอาหารประจำถิ่นให้กับนักท่องเที่ยวได้ลองลิ้มชิมรส จนกลายเป็นเมนูอาหารชื่อดังที่หลายคนเดินทางมาแล้วจะพลาดที่จะไม่รับประทานแทบไม่ได้
“ อุทยานธรณีขอนแก่น หรือ Khonkaen Geopark เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรธรณีอันทรงคุณค่าระดับโลก ที่เป็นเทือกเขาที่มีอายุประมาณ 130 ล้านปี รูปทรงแปลกตามีทางเข้าและทางออกเพียงทางเดียว มีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ถึง 5 สายพันธุ์ใหม่ของโลก นอกจากนี้ยังคงพบฟอสซิลจระเข้สายพันธุ์ใหม่และพบฟอสซิลสัตว์โบราณต่างๆมากมาย แต่การจะยกระดับอุทยานฯแห่งนี้ให้ผ่านเกณฑ์การประเมินและการพิจารณาของยูเนสโก จะทำให้ไทยมีชื่อเสียงในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานระดับโลก คนทั่วโลกก็จะศึกษาข้อมูลและเดินทางมาเที่ยวที่ จ.ขอนแก่น ในสัดส่วนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น” นายเข็มชาติ กล่าว
ยูเนสโกได้ให้ความหมายของ "อุทยานธรณี" (Geopark) คือ พื้นที่ที่ประกอบไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยารวมถึงคุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ
ปัจจุบันทั่วโลกมีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จำนวนทั้งสิ้น 120 แห่ง ใน 33 ประเทศ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุทยานธรณีธรณีโลกของยูเนสโก จำนวน 4 แห่ง ใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย 1 แห่ง เวียดนาม 1 แห่ง และอินโดนีเซีย 2 แห่ง
อย่างไรก็ตาม การจะผลักดันให้ อุทยานแห่งชาติภูเวียงขึ้นเป็นอุทยานธรณีโลก ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องวางแผน สร้างเครือข่าย เน้นการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของคนในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบัน ผู้ว่าฯ ขอนแก่น ร่วมกับ กรมทรัพยากรธรณี และอบจ.ขอนแก่น อยู่ระหว่างการทำแผนเสร็จ และนำเสนอต่อที่ประชุมยูเนสโก้เพื่อให้อนุมัติในปี 2566
สำหรับ ขอบเขตอุทยานธรณีขอนแก่น ที่จะขอขึ้นเป็นมรดกโลก ได้แก่ แนวเขตอุทยานแห่งชาติภูเวียง พร้อมกับพื้นที่ อ.เวียงเก่า และ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น รวมพื้นที่ประมาณ 1,038 ตร.กม. โดยมีพื้นที่การพัฒนาต่อเนื่องจากอุทยานธรณีขอนแก่นรวม 7 อำเภอรอบแนวเขตอุทยาน รวมพื้นที่ประมาณ 2,489 ตร.กม.
นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธณี กล่าวว่า วันนี้คณะทำงานได้ลงพื้นที่ทำการศึกษาวิจัย มีการประสานงานร่วมกับชุมชนและพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพราะในการนำเสนอนั้นจะต้องมีผลการศึกษาวิจัยมารองรับ และชุมชนเองต้องพร้อม ขณะที่จังหวัดมีความชัดเจนในการส่งเสริมในเรื่องของการนำอุทยานฯแห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาและเส้นทางกาท่องเที่ยว คู่ขนานไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นที่ทั้งหมดชาวขอนแก่นนั้นตอบโจทย์และมีแผนการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว
น.ส.ผกาสวรรค์ ปรัชญคุปต์ นักผังเมืองชำนาญการ อบจ.ขอนแก่น เธอเป็นคณะทำงานในพื้นที่ขับเคลื่อนให้อุทยานฯขึ้นทะเบียนเป็น Global Geopark กล่าวว่า การเสนอขอเป็น อุทยานระดับโลก ก็เหมือนกับมรดกโลกแต่เป็นด้านธรณีวิทยา ซึ่งการจะได้รับความเห็นชอบไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ที่อุทยานฯภูเวียงจะเป็นแหล่งพบไดโนเสาร์ แต่ยูเนสโกก็ไม่ได้เน้นเรื่องนี้ เขาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการพื้นที่ที่ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม รู้สึกเป็นเจ้าของว่า พื้นที่ที่จะเป็นอุทยานธรณีโลกนี้ มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ ที่ต้องอนุรักษ์หวงแหน ไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน รูปแบบที่ต้องทำ เช่น ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึง พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์ของอุทยานธรณี ซึ่งก็คือ ไดโนเสาร์
“ยูเนสโกต้องการให้ขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน ริเริ่มคิดโดยคนในชุมชน ไม่ใช่รัฐมาจัดการ จึงต้องเน้นการทำงานเชิงเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งเราได้ให้ อบจ.ขอนแก่นเป็นแกนกลางระหว่างคนท้องที่ไปสู่เป้าหมาย ที่วางไว้”
เธอบอกว่า เราเพิ่งเริ่มกระบวนการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่อย่างจริงจังมาได้เพียง 2-3 เดือน ปัจจุบัน คณะทำงานได้คุยกับชาวบ้านแล้วเกือบ 2,000 คน ให้เห็นถึงภารกิจที่ทางจังหวัดและอุทยานฯกำลังจะผลักดันให้ อุทยานธรณีระดับโลก เพื่อบอกว่า โครงการนี้ ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อย่างไร ทางอบจ.ได้อบรม เชิญคนในพื้นที่ว่า อยากเห็นอะไร เช่น จะจัดวิสาหกิจชุมชนไหม การอบรมไกด์รุ่นจิ๋ว หรือ จะขายสินค้าอะไร หรือ จะขายอาหารท้องถิ่นประภทไหน แต่ต้องเกี่ยวข้องกับธีมไดโนเสาร์ ยึดโยงไปสู่จุดนั้นให้ได้ เพราะอย่างที่สตูลที่ได้เป็นอุทยานธรณีโลก เขาก็ชูเรื่องผ้าบาติค
น.ส.ผกาสวรรค์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้าน ทั้งหมดตอบรับเห็นด้วยกับโครงการอุทยานธรณีขอนแก่น ชาวบ้านเล่าว่า มีการขุดฟอสซิลเจอตั้งแต่ปี 2519 จากนั้นมาก็มีรถบัสพาเด็กนักเรียนไปดูแล้วก็ขับผ่านไป โดยที่ชาวบ้านก็ไม่ได้อะไรเลย แม้แต่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ เด็กก็เข้าฟรี แถมยังห่อข้าวมากินเอง ทิ้งขยะอีก ถ้านักเรียนมาทัศนศึกษา แต่คนถ้าคนในพื้นที่ไม่ได้อะไรด้วยก็เปล่าประโยชน์ เราจึงบอกว่า สิ่งที่จะทำชาวบ้านจะได้ประโยชน์แน่นอน เพราะตามหลักยูเนสโก ถ้าจะเข้าหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียน ชุมชนต้องอยู่ได้ ต้องหาโปรแกรม ท่องเที่ยวเชิงธรณี ขายอาหารท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านตื่นตัวมากและเห็นโอกาสจะยกดับชุมชนขึ้น ถือว่า เราได้ขับเคลื่อน จุดประกายในพื้นที่ที่ติดแล้ว
เธอกล่าวว่า ตามขั้นตอนที่จะขอเป็นอุทยานธรณีโลก ต้องเริ่มจากการเป็นอุทยานระดับประเทศก่อน โดยทางอุทยานภูเวียงจะทำเรื่องถึงผู้ว่าฯขอนแก่นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการขอเป็นอุทยานระดับประเทศ จากนั้นจะมีคณะกรรมการจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มาประเมินในช่วงต้นปี 2563 หากผ่าน ก็จะเข้าครม.ให้เห็นชอบประกาศเป็นอุทยาธรณีระดับประเทศได้ จากนั้น ก็จะสมัครขอยื่นเป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งต้องครบเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ ซึ่งยูเนสโกมีวาระที่จะพิจารณาในเดือนเม.ย. 2566 โดยผู้เชี่ยวชาญยูเนสโก้ที่จะลงพื้นที่มาดู KhonKaen Geopark
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าฯขอนแก่น กล่าวว่า ในปี 2561 ขอนแก่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในพื้นที่มากถึง 5.6 ล้านคน ปีนี้ผ่านไป 9 เดือนตามจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดแล้วมากกว่า 5 ล้านคน ทั้งหมดล้วนต่างต้องการเดินทางมาท่องเที่ยว มาประชุมสัมมนา มาพักผ่อน ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานที่สำคัญที่จังหวัดได้เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่องกับโครงการอุทยานธรณีวิทยาระดับประเทศ ที่เราจะผลักดันให้ได้ในปี 2566
ขณะนี้ คณะทำงานได้กำหนดไทม์ไลน์และแผนงานในลำดับขั้นตอนต่างๆเพื่อที่จะนำเสนออุทยานแห่งชาติภูเวียงที่เราค้นพบไดโนเสาร์นานาชนิดถึง 10 สายพันธุ์ให้กลายเป็นอุทยานธรณีวิทยาระดับโลก ที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จริงจะทำให้ขอนแก่นมีผลิตภัณฑ์เด่นระดับโลกเพิ่มขึ้นต่อจากสิมวัดสระทอง ที่ อ.มัญจาคีรี และ ผ้าไหมมัดหมี่ที่ อ.ชนบท