มท.1 สั่งการผู้ว่าฯ 14 จังหวัดภาคใต้ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนก่อนเกิดสถานการณ์
เมื่อวันที่ 26 ต.ค.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ติดตามการคาดหมายลักษณะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าช่วงกลางเดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม บริเวณภาคใต้จะได้รับอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ส่งผลให้มีฝนตกชุกหนาแน่น และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้ามาใกล้ หรือเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคใต้ได้
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว บกปภ.ช. ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยต้องให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนประชาชนอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง ทั่วถึงในทุกช่องทาง เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลการเตรียมความพร้อมของภาครัฐ ช่องทางการรับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แนวทางปฏิบัติตนและช่องทางการแจ้งข้อมูลหรือขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ นอกจากนี้ ให้ติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์สภาวะอากาศ สภาพน้ำท่า น้ำหลาก และคลื่นลมในทะเลตลอด 24 ชั่วโมง หากเห็นว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ ให้เสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายแจ้งเตือนภัยประชาชนได้ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์
นอกจากนั้น พร้อมสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปอยู่ในจุดปลอดภัยในทันที โดยให้พิจารณากำหนดจุด/พื้นที่ปลอดภัย จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เต็นท์สนาม ให้มีความพร้อมรองรับการอพยพประชาชนก่อนที่จะเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ พร้อมกำหนดพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงจัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวที่มีความปลอดภัย ในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติและพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ให้วางมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ กำหนดมาตรการ การแจ้งเตือน การปิดกั้น และห้ามนักท่องเที่ยวหรือบุคคลเข้าพื้นที่ที่กำหนด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ให้กำหนดมาตรการประกาศห้ามการเดินเรือกรณีที่มีความเสี่ยงภัย พร้อมกำหนดแนวทาง วิธีการ และระบบในการบังคับ ควบคุม นำเรือที่ฝ่าฝืนซึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยกลับเข้าสู่ฝั่ง หากฝ่าฝืนให้ดำเนินการทางกฎหมายในทุกกรณี
สำหรับ ในด้านการเผชิญเหตุได้เน้นย้ำให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องแบ่งมอบภารกิจ พื้นที่ปฏิบัติงาน และผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนตามสถานการณ์ความรุนแรงและความซับซ้อนของภัย พร้อมกำหนดขั้นตอน วิธีการที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ให้จัดระบบการสื่อสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยทหาร เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้มีประสิทธิภาพ และเพิ่มช่องทางระบบการสื่อสารสำหรับแจ้งข้อมูลข่าวสาร รับเรื่องราวร้องทุกข์ ขอรับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ จากประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ด้านการจัดการทรัพยากร
อย่างไรก็ตาม ให้กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ ช่องทางการประสานงาน ผู้มีอำนาจสั่งการเคลื่อนย้ายยานพาหนะ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมเผชิญเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที และด้านการดำรงชีพ และการบรรเทาทุกข์ ให้จัดเตรียมคลังเสบียงอาหารให้มีความพร้อมในการจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านการดำรงชีพ อาหาร และน้ำดื่มได้ทันที โดยให้ฝ่ายปกครอง หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเชิญชวนประชาชนจิตอาสามีส่วนร่วมกับภาครัฐตามทักษะความถนัดในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า บกปภ.ช. ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และรายงานสถานการณ์มายังกองอำนวยการกลางอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนสามารถประสานงานขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย โทร. 1784 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง