กาญจนบุรี-เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตาบัวฯ เปรยสมเพชหลังเสือของกลางที่จนท.ยึดไปจากวัดทยอยตายกว่า 80 ตัว ฝากตรวจสอบซากเสืออยู่ไหน ร้องรมว.ทส.ให้นำเสือที่เหลือกลับมาเลี้ยงที่วัดหากเลี้ยงไม่รอด
จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยึดเสือโคร่งของกลางจำนวน 147 ตัว จากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน หรือ วัดเสือ ที่เคยเป็นสถานท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลกในอดีต ตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 กาญจนบุรี-ไทรโยค หมู่ 5 ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี และนำไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2559 หลังจากที่กรมอุทยานฯได้เคลื่อนย้ายเสือออกไป ทำให้วัดเสือ แหล่งท่องเที่ยวซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด โดยล่าสุด เสือของกลางได้ทยอยเสียชีวิตลงด้วยโรคอัมพาตลิ้นกล่องเสียง 86 ตัว จากจำนวนเสือของกลางทั้งหมด
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปัญโน เพื่อกราบนมัสการพระวิสุทธิสารเถร (ภูสิต ขันติธโร) หรือ หลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสฯ โดย หลวงตาจันทร์ เปิดเผยว่า เสืออยู่ที่วัดดีอยู่แล้ว แต่เมื่อกรมอุทยานฯ มาเอาไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาตมาก็ได้แต่สมเพช ถือว่ามันเป็นกรรมของสัตว์ แต่คนที่เอาไปก็ได้รับกรรมเช่นกัน ซึ่งหลังจากที่มาเอาเสือไป อาตมาก็ได้แต่สอบถามข่าวคราว ที่เกิดขึ้นคงเกิดจากคนเลี้ยงขี้เกียจ เมื่อเสือเริ่มมีอาการป่วย แต่ไม่ได้รักษา ปล่อยจนกระทั่งอาการป่วยหนักมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เสือตายเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ตอนที่เสืออยู่ที่วัดพระสงฆ์ในวัดและคนงานดูแลเสือเป็นอย่างดี ทุกคนรักเสือ ไม่มีใครคิดทำร้ายเสือ อีกทั้งชาวบ้านก็มีงานทำ มีอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว สำหรับการฝึกให้เสือใกล้ชิดกับคน เราใช้ความรักในการฝึกสอน จนเสือเชื่องและสามารถทำตามคำสั่งได้ อาตมาอยากให้ตรวจสอบว่า ซากเสือที่ตายทั้งหมดอยู่ที่ไหน มีการลักลอบนำซากออกไปขายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เสือ 1 ตัว มีเขี้ยวจำนวน 4 เขี้ยว รวม 344 เขี้ยว หนังเสือ กระดูกเสือ เป็นต้น แต่เสือที่อยู่ที่วัดแห่งนี้ เมื่อตายลง เจ้าหน้าที่จะเข้ามาทำการตรวจสอบอย่างละเอียดพร้อมทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน และทำลายซากเหล่านั้น ซึ่งทุกอย่างทำอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่าเอาไปขายในตลาดมืดก็แล้วกัน
หลวงตาจันทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยคิดว่า จะขอนำลูกที่เกิดจากเสือเหล่านั้นมาเลี้ยง แต่จะไม่นำเสือที่ยึดไปมาเลี้ยง เนื่องจากเกรงว่า ขณะที่เสืออยู่ที่นั่นไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำอะไรกับมันบ้าง และหากนำกลับมาเลี้ยงแล้วเกิดตายขึ้นมา ก็จะเป็นปัญหากับวัดอีก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เสือต้องมาตายเป็นจำนวนมากเช่นนี้ อาตมาขอให้นำเสือที่เหลือทั้งหมดกลับมาเลี้ยงที่วัด
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้นำอาหารสัตว์มาเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในวัดแห่งนี้ พร้อมนำสัตวแพทย์มาดูแลสัตว์ด้วย ดังนั้นฝากไปยัง นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หากกรมอุทยานฯ เลี้ยงเสือที่เหลืออยู่ไม่ได้ ก็ขอให้เอากลับมาให้ที่วัดเลี้ยง ทางวัดพร้อมที่จะเลี้ยง เพราะเราเคยเลี้ยงและรู้วิธีการเลี้ยงเป็นอย่างดี โดยเราจะทำแบบบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจ.กาญจนบุรี และประเทศไทย
หลวงตาจันทร์ กล่าวว่า ได้ทำโครงการ Tiger Temple ไว้แล้ว โดยได้ซื้อที่ดินเพิ่มอีกจำนวน 2 พันไร่ เพื่อขยายพื้นที่ออกไป โดยพื้นที่เดิมจะเป็นสัตว์ที่อยู่ในกรง ส่วนพื้นที่ใหม่ขยายเพิ่มออกไป จะปล่อยสัตว์ อาทิ เสือ สิงโต หมี ให้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น และทำเป็นกระเช้าลอยฟ้าให้นักท่องเที่ยวได้นั่งเที่ยวชม และพื้นที่ส่วนหนึ่งสร้างเป็นเกาะขึ้นมา เพื่อทำร้านกาแฟในลักษณะเป็นโดมกระจกให้นักท่องเที่ยวได้เดินเที่ยวชมสัตว์แบบพาโนรามา เป็นต้น โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ
นอกจากนี้ ยังสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ อาทิ วันแห่งความรัก 14 กุมภา โดยฝ่ายหญิงให้เสือนอนหนุนตัก และฝ่ายชายสวมแหวนแต่งงาน จากนั้นก็จดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง และจัดเลี้ยงงานมงคลสมรสที่ปราสาทเมืองสิงห์ เป็นการเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจ.กาญจนบุรีมีศักยภาพสูงในเรื่องของการท่องเที่ยว ดังนั้นเชื่อว่า เสือจะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกลับมา จะส่งผลให้เมืองกาญจน์เจริญขึ้น และเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน
หลวงตาจันทร์ กล่าวว่า วันที่เจ้าหน้าที่มาขนย้ายเสือออกจากวัด เสือทุกตัวจะมีการตรวจสุขภาพจากทีมสัตวแพทย์กว่า 40 นาย ดังนั้นหากมีเสือติดเชื้อ หรือเป็นโรค เจ้าหน้าที่ก็จะต้องกล่าวหาวัดไปแล้ว การกล่าวหาว่าเสื้อตายเพราะติดเชื้อจากวัดเป็นการโยนความผิดให้กับวัดอีกเช่นเคย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่บรรยากาศภายในบริเวณวัด เป็นไปอย่างเงียบเหงา มีนักท่องเที่ยวนำอาหารมาเลี้ยงสัตว์อยู่บ้าง แต่ไม่มาก ขณะเดียวกันภายในวัดยังมีสัตว์ป่าที่ได้รับอนุญาตให้นำมาเลี้ยงอย่างถูกกฎหมายอยู่อีก 1 ชนิด ก็คือ สิงโต เพศผู้ ชื่อเพชร อายุ 13 ปี ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปดูได้โดยไม่ต้องเสียเงิน สิงโตตัวดังกล่าวอยู่ในกรงที่แข็งแรง มีเจ้าหน้าที่ดูแล ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย ขณะที่บ้านเกาะเสือ เหลือเพียงกรงเลี้ยงที่ว่างเปล่า และประตูทุกกรงได้ถูกเปิดทิ้งไว้ตั้งแต่วันที่ขนย้ายเสือออกไป บริเวณหุบเสือ สถานที่จัดแสดงเสือให้นักท่องเที่ยวได้ชมและถ่ายรูปสัมผัสกับเสืออย่างใกล้ชิด ก็มีบรรยากาศไม่ต่างกัน
สำหรับ เสือโคร่งของกลางจากวัดป่าหลวงตาบัวญาณสัมปันโน ถูกกรมป่าไม้จึดไปตั้งแต่ 12 มิ.ย. 2544 เนื่องจากวัดครอบครองเสือโคร่ง สัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่กรมป่าไม้มอบหมายให้สัตวแพทย์สมชัย วิเศษมงคลชัย เป็นผู้ดูแลเสือของกลางและฝากไว้เลี้ยงไว้ที่วัดนี้ จากเดิมมีพ่อแม่เสือของกลางเพียง 7 ตัว ผ่านมาเกือบ 15 ปี จำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นเป็น 148 ตัว ท่ามกลางการร้องเรียนจากชาวต่างชาติเรื่องการทรมานเสือด้วยการล่ามโซ่ การเลี้ยงดูเสือที่ไม่ดี ตลอดจนความปลอดภัย และยังถูกระบุเป็นแหล่งลักลอบค้าเสือ จนรัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามจากไซเตส
ต่อมาในเดือน 30 พ.ค.2559 กรมอุทยานฯใช้กฎหมายบังคับย้ายเสือโคร่งมาดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และเขาสน จ.ราชบุรี จนกระทั่งวันที่ 4 มิ.ย.2559 เจ้าหน้าที่ได้ทำการขนย้ายเสือโคร่งชุดสุดท้ายเป็นวันสุดท้าย เป็นการปิดตำนานวัดเสือในที่สุด