THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

12 กันยายน 2562 : 20:47 น.

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ เดินหน้าเปิดเวทีภาคใต้ เชื่อมโยงเครือข่าย ต่อยอดสื่อดีสร้างสรรค์ปลอดภัย พร้อมหนุนสื่อโซเชียลเป็นเครื่องมือประชาชนสร้างสื่อสร้างคุณค่า

​เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่โรงแรมนิภาการ์เด้น อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จับมือกับภาคีเครือข่ายในภาคใต้ จัดงาน รวมพลังสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิด "ผนึกกำลังสื่อสร้างสรรค์ สร้างนิเวศสื่อที่ดี" ภายในงานมีการนำเสนอนิทรรศการสะท้อนแนวคิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ดี การประกาศเจตนารมณ์แสดงพลังสื่อสร้างสรรค์ พร้อมมอบรางวัล สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ “TMF AWARDS 2019” ให้กับผู้ผลิตสื่อดีเด่นจากภาคใต้ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

​​นางวรินรำไพ ปุณย์ธนารีย์ รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ภารกิจของทุน คือการให้ทุนสนับสนุนในกิจกรรมผ่านโครงการ เพื่อดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันผลิตสร้างสรรค์สื่อที่ดี และปลอดภัย โดยผลงานที่สร้างสรรค์จะเป็นการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแรงจูงใจในการผลิตและเข้าถึงสื่อปลอดภัย และร่วมกันสร้างสรรค์ภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน พลเมืองเกิดการเรียนรู้เท่าทันและปลอดภัยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในการสื่อสารในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพราะต้องยอมรับว่าแต่ละคน มีต้นทุนหรือศักยภาพหรือโอกาสไม่เท่ากัน กองทุนฯจึงทำหน้าที่เพื่อเข้าไปสนับสนุน เหมือนเป็นการนำความคิดมาเจอกันแล้วเชื่อมโยงต่อยอด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมทางสื่อที่ดีหรือนิเวศสื่อที่ดี

​​“กองทุนฯมีการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในหลายระดับ โดยทุกครั้งที่มีการจัดเวที กิจกรรรม ก็จะมีการเชิญภาคีเครือข่าย ประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศได้มามีส่วนร่วมพบเจอกัน ขณะเดียวกันได้มีการจัดเวทีกระจายไปในท้องถิ่น ชุมชน โดยจัดแต่ละภาค 4 ภาคเพื่อเชิญชุมชม เครือข่าย ปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นการเปิดพื้นที่แสดงออก นำเสนอแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อสร้างสื่อที่ดี เหมือนไปหาเพื่อนและเราอยากให้เพื่อนได้เจอเราด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเจ้าภาพในการเปิดพื้นที่ให้มารวมกันเพื่อที่จะบอก ว่าพวกเขามีความรู้ มีภูมิปัญญา มีอะไรดี หรือเขาทำอะไรดีในด้านสื่อสร้างสรรค์ปลอดภัยซึ่งนี้จึงเป็นที่มาของรางวัล TMF AWARDS” นางวรินรำไพ กล่าว​​

นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า สื่อมีมิติที่หลากหลายในปัจจุบันแต่ภาคใต้ถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญคือการสื่อสารผ่านวัฒนธรรมภูมิปัญญาการแสดง ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุง มโนราห์ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญา การเมือง ศิลปวัฒนธรรมผ่านสื่อพื้นบ้านเหล่านั้นที่ตกทอดกันมาอย่างยาวนาน ยิ่งมีสถานการณ์บ้านเมือง การเมือง ก็จะมีการสอดแทรกเล่าเรื่องราวจากสื่อการประกอบการแสดงที่สะท้อนสภาพสังคมออกมาด้วย ที่ไม่ใช่แค่การปรากฎการณ์ แต่สื่อวัฒนธรรมของภาคใต้ ลึกซึมซับเข้าไปถึงจิตใจของผู้คน

อย่างไรก็ตาม สื่อในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก คนไทยกว่า50ล้านคนมีเฟซบุ๊ก มีการสื่อสารกันโลกออนไลน์รวมทั้งมีเฟคนิวส์ตามมาด้วยนี้คืออันตราย ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ จะสื่อสารกันอย่างไรให้มีความสร้างสรรค์ผ่านโลกโซเชียลให้เกิดประโยชน์และทรงคุณค่า ปลอดภัย ในการเรียนรู้ พูดคุย แลกเปลี่ยนร่วมกัน โดยใช้โซเชียลขับเคลื่อน ประเด็น งานชุมชน งานด้านสร้างสรรค์สังคม ซึ่งสื่อเหล่านั้นคือเป็นเครื่องมือของประชาชนเพื่อสร้างคุณค่าไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมมากกว่า​​

ด้าน รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย คนสามารถผลิตสื่อ สร้างสื่อได้ด้วยตนเองในด้านดีคือการเปิดกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งประเด็นต่างในสังคม เช่น เรื่องดราม่า เฮตสปีช (Hate Speech) เฟกนิวส์(Fake News) ซึ่งไม่ว่าสื่อจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญที่สังคมต้องการมากที่สุดคือ ความจริง เนื้อหา สาระ ที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตามปัจจุบันคนที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ผลิตสื่อ ให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มสื่อมากกว่า การสร้างเนื้อหาในเชิงคุณภาพ ซึ่งสังคมต้องการเนื้อหาคุณภาพ ความจริง ซึ่งสื่อต้องสะท้อนตรงไปตรงมา ไม่ใช่อ่อนไหว ดราม่า ตามยุคโซเชียล ที่ตอบสนองอารมณ์ภาพรวมสังคมดราม่า

​​"การจัดกิจกรรมในภูมิภาค ถือเป็นการกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจ ภายใต้พรมแดนการสื่อสารที่ทะลายลงไป เราควรตระหนัก ตื่นตัว เพื่อนำไปสู่การสร้างสื่อเชิงคุณภาพ ซึ่งมันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนไปสู่สังคมคุณภาพได้ในอนาคต สิ่งสำคัญคือคอนเท้นต์ เนื้อหา แน่นอนว่าแพลตฟอร์มมีความสำคัญ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็ต้องศึกษาพิจารณากันต่อไป แต่การสื่อสารในเชิงคอนเทนต์เนื้อหาสาระเชิงคุณภาพ จะช่วยยกระดับคุณภาพสังคมไม่ให้เป็นสังคมดราม่าที่วูบไหวไปกันทั้งสังคมซึ่งไม่เป็นผลดี ซึ่งมันจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องประชาธิปไตยและความเป็นพลเมืองในอนาคต" รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว​​

ขณะที่ นายพงษ์พัฒน์ ด่านอุดม ผู้ชนะเลิศรางวัลผลิตสื่อ ประเภทเด็กและเยาวชนสร้างสรรค์สื่อดีเด่น ซึ่งได้ผลิตสื่อรณรงค์ ผลิตสื่อข่าวและรายงานสถานการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตลอดนจนนำเสนอวิถีชีวิตของคนในชุมชน กล่าวว่า สนใจการทำสื่อตั้งแต่เรียนในระดับมัธยมศึกษา และเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยเริ่มต้นจากมือถือของตัวเอง จนกระทั่งเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็ได้เข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์และผลิตสื่อต่อยอดเป็นการผลิตข่าว โดยได้มีโอกาสไปสัมผัสเรียนรู้ในชุมชน มีเรื่องราวน่าสนใจ พบว่า บางเรื่องสื่อหลักก็ไม่ให้ความสำคัญ หรือเข้าไม่ถึง จึงเริ่มทำข่าวพลเมืองในช่องทีวีสาธารณะ เพื่อสื่อสาร ส่งสาร ให้ชาวบ้านในพื้นที่ เป็นตัวแทนของชาวบ้านบอกเล่าเรื่องราวของเขา

ขณะเดียวกันก็เริ่มหันมาสนใจการผลิตสื่อเยาวชนมากขึ้น ซึ่งค้นพบว่าต้องมีการครีเอท เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ในการนำเสนอเรื่องราว ข้อมูล ความรู้ซึ่ง การผลิตสื่อทุกคนสามารถทำได้แม้ไม่มีอุปกรณ์ครบครัน สิ่งสำคัญคือการครีเอทประเด็นให้น่าสนใจกับกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้ข้อจำกัด หรือต้นทุนที่เรามีอยู่

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ