กรมศิลปากรเร่งลอกสีตามวัดและโบราณสถานใน จ.สุพรรณบุรีใครมาทำให้ประติมากรรม และโบราณสถานเปลี่ยนสภาพ จะมีโทษทางอาญา
โดย สมาน สุดโต
จากการที่กลุ่มชาวพุทธผู้หวังดีกลุ่มหนึ่งนำสีทองทาประติมากรรม ใบเสมาหินทราย กำแพงโบสถ์วิหาร ตลอดถึงซุ้มประตู ตามวัดต่างๆ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทางสื่อและทางโซเชี่ยลมีเดีย ตั้งแต่ พ.ศ.2560 เรื่อยมา ซึ่งกรมศิลป์ได้สำรวจพบว่ามีมากถึง 30 วัด ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจ.สุพรรณบุรี จังหวัดเดียวมีถึง 9 วัด
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญทางด้านอนุรักษ์ กรมศิลปากร จึงต้องลงทั้งทุน และแรงงาน ลอกสีทองในวัดที่สำคัญๆ ในจ.สุพรรณบุรี 3 วัด จาก 9 วัด เพราะถ้าปล่อยไปจะเกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยเบื้องต้นใช้งบประมาณ 9 แสนบาท จัดจ้างบริษัทเพื่อลอกสีทองบางส่วนออก เพื่อคืนความดั้งเดิมแห่งประติมากรรมให้แก่วัด เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบผลงานการทำงานร่วมกันระหว่างกรมศิลป์ วัด ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการอนุรักษ์
นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร และ น.ส.อัจฉรา แข็งสาริกิจ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 จ.สุพรรณบุรี จึงนำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางไปสังเกตการณ์ความก้าวหน้าในการอนุรักษ์โบราณสถาน และประติมากรรมให้กลับสู่สภาพเดิมที่จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562
วัดแรกที่กรมศิลป์นำไปดูการอนุรักษ์ได้แก่วัดโพธาราม ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ผู้หวังดีทาสีทองซุ้มประตูของอุโบสถเก่าทั้ง 2 ด้าน ในขณะที่อาคารอุโบสถ์ก็ถูกลงสีทองทั้งหลัง รวมถึงใบเสมาหินทราย ศิลปะช่วงอยุธยาตอนปลาย
เจ้าหน้าที่ฝ่ายอนุรักษ์ชี้ปัญหาจากสีทองที่ทาว่า เป็นสีผสมเรซิน ทนความร้อน ไม่ยอมให้น้ำหรือความชื้นซึมผ่าน ทำเกิดความเสียหายต่อประติมากรรมมาก จึงได้ลอกทองซุ้มประตูทั้ง 2 และใบเสมาหินทรายออกทั้งหมด โดยชุมชน และพระสงฆ์ในวัดเข้าใจและให้ความร่วมมือดียิ่ง ส่วนที่เหลือ เช่น กำแพง และผนังด้านในอุโบสถคงต้องใช้เวลาในปีต่อไป
วัดไชนาวาส ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นวัดที่ 2 ที่คณะผู้หวังดีนำสีทองทองทาใบเสมาคู่ ที่สร้างจากหินทราย ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย และวิหารน้อยทั้งหลัง เมื่อลอกสีทองใบเสมาโบราณออก พบว่า ทางวัดเคยทาสีทองไว้เมื่อ 32 ปีที่แล้ว จึงลอกออกได้ไม่หมด เพราะมีสีรองพื้นด้วย คงลอกออกได้แต่สีทองที่ทาใหม่ ทางคณะผู้หวังดี ยังทาสีทองพระพุทธรูป 8 องค์ รอบวิหารน้อยในวัดไชนาวาส โดยเขียนชื่อคณะผู้อุปถัมภ์ไว้ที่ฐานพระพุทธรูปด้วย
เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ บอกว่า สีทองที่ทาเป็นสีอะคลีลิก สูตรน้ำ ผลิตจากอะคลิลิกเรซิน 100% เนื้อสีมีความเหนียว ทนต่อาภาพภูมิอากาศ ปิดกั้นการระเหยของความชื้นลักษณสี มีความเรียบเนียน
วัดที่ 3 ที่กรมศิลปากรพาคณะสื่อมวลชนไปดูได้แก่ วัดลาวทอง ต.สนามชัย อ.เมืองสุพรรณบุรี โดยมีแม่น้ำสุพรรณบุรี ไหลผ่าน ท่านผู้หวังดีทาสีทองหลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ อายุ 800 ปี ที่เป็นพระประธานในอุโบสถเก่าทั้งองค์ พร้อมทั้งแต่งผนังด้านหลังพระประธานด้วยการทาสีทองเป็นรูปวงกลม มองดูหมือนพระจันทร์เต็มดวง ดูงามดี
แต่ความเสียหายที่เกิดจากสีทอง ที่องค์พระพุทธรูป หรือหลวงพ่อดำ คือสีเหนียวแน่น ความชื้นซึมไม่ได้ ลอกออกได้เป็นแผ่นๆ หากทิ้งไว้ ผิวหลวงพ่อดำ จะกระเทาะเป็นจุดๆ กรมศิลป์จึงลอกออกทั้งองค์ คืนหลวงพ่อดำ พระศักดิ์สิทธิ์อายุ 800 ปีให้แก่คณะสงฆ์และชาวบ้านวัดลาวทองเรียบร้อยแล้ว
ความเสียหายที่เกิดจากทาสีทองเห็นชัดเจนอีกจุดหนึ่งคือ ใบเสมาหินทราย อุโบสถเก่าของวัดลาวทอง เมื่อลอกสีทองออก พบว่า หินทรายใบเสมาที่หน้าอุโบสถ เปื่อยยุ่ยเป็นผง ทั้งนี้สีที่ทาเป็นวัสดุสงเคราะห์ มีลักษณะเหนียว ความชื้นระเหยไม่ได้
น.ส.อัจฉรา แข็งสารีกิจ ผู้อำนวยการ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กล่าวว่า จะลอกทองออกหมดทั้ง 3 วัด น่าจะเป็น พ.ศ.2563 และจากการเกิดปัญหานี้ สำนักศิลปากรที่ 2 จึงนิมนต์พระสังฆาธิการจากวัดต่างๆ 5 จังหวัด มาประชุมเพื่อถวายความรู้ด้านอนุรักษ์ ปรากฏว่า พระสังฆาธิการเข้าประชุมล้นหลามพร้อมทั้งบอกทิ้งท้ายให้เป็นการบ้านพระสังฆาธิการไปด้วยว่า ใครมาทำให้ประติมากรรม และโบราณสถานเปลี่ยนสภาพ จะมีโทษทางอาญา ซึ่งตัวอย่างมีให้เห็นที่เจ้าอาวาสวัดหลวงแห่งหนึ่งในกทม.ถูกศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว