THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

30 กรกฎาคม 2562 : 17:43 น.

ขอนแก่น- แพทย์ยืนยันตรงกันกระดูกสันหลังนักเรียนหญิงม.3 คดงอไม่น่าเกิดจากการสะพายกระเป๋าหนักเกินไป แต่อาจเกิดจากภาวะทางพันธุกรรม

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2562 ที่โรงพยาบาลขอนแก่น ราม อ.เมือง จ.ขอนแก่น นพ.กิตติพงษ์ วิทยาไพโรจน์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์(โรคกระดูกสันหลัง) โรงพยาบาลขอนแก่น ราม เปิดเผยว่า จากกรณีการพบกระดูกสันหลังของน้องโทนี่ อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนชุมแพศึกษา อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่มีอาการคดงอ ซึ่งคนในครอบครัวเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการสะพายกระเป๋านักเรียนที่หนักเกินไป และเป็นระยะเวลานาน แต่การเจ็บปวดที่หลังหรือไหล่อาจจะเกิดจากผลข้างเคียงที่กล้ามเนื้อในร่างกายของผู้ป่วยไม่ปกติ อันมีผลมาจาก กระดูกสันหลังน้องไม่ปกติ

สำหรับ อาการกระดูกสันหลังคดงอนั้นยังไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจจะเกิดจากภาวะทางพันธุกรรมหรือภาวะอื่นๆ ยังคงต้องรอผลการตรวจจากทีมแพทย์เฉพาะทางอีกครั้ง ทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า เกิดจากสาเหตุใด อย่างไรก็ดีภาวะกระดูกสันหลังคดงอ สามารถเกิดขึ้นได้กับประชาชนโดยทั่วไปแต่ไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่มักจะพบในผู้หญิง ช่วงประถมศึกษาตอนปลายและช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น

" การสะพายสิ่งของหนักมีผลกับการเกิดกระดูกสันหลังคดได้หรือไม่ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะเกิดอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อมากกว่า ก็อยากให้ประชาชนทุกคนได้มีการดูแลรักษาร่างกายตัวเองหรือคนในครอบครัว ทุกคนควรจะสังเกตสรีระร่างกายของคนใกล้ชิดว่าไหล่หรือซี่โครงมีความผิดปกติหรือไม่ การเดิน การนั่ง หลังยังตรงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะสังเกต หากพบความผิดปกติก็ให้เข้าพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ ในส่วนของน้องโทนี่ ขณะนี้ยังไม่ได้ตรวจร่างกายจึงยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ากระดูกหลังคดเกิดจากสาเหตุใด โดยแนวทางการรักษามีเพียงอย่างเดียวคือการผ่าตัด"นพ.กิตติพงษ์กล่าว

ขณะที่ ผศ.นพ.ชัชวาล ศาลติพิพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โรคกระดูกสันหลังคด เป็นโรคในกลุ่มอีโดฟาติก ที่ระบุสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ จากการวิเคราะห์พบว่า มักเกิดกับกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นหญิงวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยมีงานวิจัยจากต่างประเทศระบุว่า เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมรูปแบบหนึ่งที่ถ่ายทอดจากยายสู่แม่จากแม่สู่ลูก โดยการเอาโครโมโซม เอายีนจากผู้ที่เป็นไปตรวจพบว่าเป็นกลุ่มคล้ายๆกัน ซึ่งน่าจะเป็นยีนกลุ่มนี้ที่ทำให้หลังคดได้

"ปัจจุบันไม่สามารถระบุได้ว่ามีจำนวนผู้ป่วยเท่าใด แต่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาขอรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัญหาหลักอีกปัญหาหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่น เพราะหากเป็นแล้วเลยวัยที่จะทำการรักษาได้จะต้องเข้ารับการผ่าตัดนำเหล็กเข้าไปดามอย่างเดียว แต่หากทราบว่าเป็นตั้งแต่จำนวนองศาที่คดงอไม่มาก อาจรักษาด้วยวิธีใส่เสื้อช่วยพยุงให้ดีขึ้นแทนการผ่าตัด จึงขอแนะนำว่าให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตรูปร่างของบุตรหลานตั้งแต่ช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที"ผศ.นพ.ชัชวาล กล่าว

สำหรับ โรคกระดูกสันหลังคดในวัยรุ่นหญิง หากเป็นแล้วยังได้รับสิ่งกระตุ้นให้เป็นหนักขึ้นเช่น หิ้วประเป๋าที่หนักเป็นเวลานานๆ และเป็นประจำ จะเป็นการกระตุ้นให้กระดูกคดงอมากยิ่งขึ้น สำหรับแนวทางการรักษาจะประเมินจากมุมคดงอของกระดูกว่า หากเป็นไม่มากและอยู่ในวัยเจริญเติบโตอยู่ จะรักษาด้วยการช่วยพยุง เช่น สวมเสื้อพยุง หลีกเลี่ยงการยกของหนัก แต่หากพบว่ามีมุมมากกว่า 40 องศา อาจจะต้องได้รับการผ่าตัด

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ