สสส.เปิดตัว“มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มหาวิชชาลัยแห่งแรกของภาคใต้ เน้นสร้างพลเมืองตื่นรู้ น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับเทศบาลตำบลปริก จัดเวทีสุดยอดผู้นำชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเปิดตัว “มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” Prik University of Wisdom and Technology for Sustainable Development: Prik USD โดยมี นายไพโรจน์ จริตงาม รองผวจ.สงขลา นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. และคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. และ สมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เข้าร่วม
น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันแผนสุขภาวะชุมชนสนับสนุนให้มีมหาวิชชาลัยจำนวน 4 แห่ง จากจุดเริ่มต้นของการบูรณาการการดูแลสุขภาพชุมชนโดยชุมชน ในการจัดงานครั้งนี้ได้เปิดตัว “มหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” มหาวิชชาลัยแห่งแรกในภาคใต้อย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจัยความสำเร็จนอกจากชุมชนจะมีทุนศักยภาพของพื้นที่แล้ว ยังมีสุดยอดองค์กรความรู้ สุดยอดผู้นำ ที่มีการลงมือปฏิบัติจริงจนเห็นผลสำเร็จ
“น่าชื่นชมเทศบาลตำบลปริกที่มีแนวคิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ตอบสนองต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนเป็นการมุ่งสร้างคน ให้เป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น (Active Citizens) ด้วยการจัดกระบวนการเรียนรู้ในทุกกลุ่มคน มีระบบการบริหารจัดการตำบลที่มีการสร้างผู้นำ การวางแผนที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหา และจัดระบบการทำงานในลักษณะพหุภาคี เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของประชาชนและสังคม โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาและหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ” น.ส.ดวงพรกล่าว
ด้านนายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก กล่าวว่า เทศบาลตำบลปริกร่วมขับเคลื่อนตำบลสุขภาวะ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ตั้งแต่ปี 2552 จนกระทั่งปัจจุบัน 10 ปี ที่ผ่านมาปริกสั่งสมประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาสุขภาวะชุมชน สามารถสร้างผู้นำ เครือข่าย บริหารจัดการพื้นที่โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและมีขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรม โดยใช้ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานอันนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ยึดหลัก1.น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ 2.โปร่งใสตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน 3. สร้างหุ้นส่วนในการทำงาน ทุกคนทุกหน่วยงานในชุมชนร่วมลงมือปฏิบัติการร่วมกัน 4. ยึดหลักคุณธรรม คณะผู้บริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงานในเทศบาลตำบลปริก เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และ 5.พัฒนาผ่านปฏิบัติการจริง ค้นหาวิธีการโดยการลองผิด ลองถูก ส่งเสริมเรียนรู้บนฐานความเข้าใจในวิถีชีวิต
สำหรับ รูปธรรมการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต 7 กลุ่มสังคม ได้แก่ 1. สังคมคนดี 2. สังคมสันติสุข 3.สังคมสวัสดิการ 4. สังคมรักษ์โลก 5.สังคมเอื้ออาทร 6.สังคมปรับตัว และ 7.สังคมไม่เดือดร้อน