THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

21 กรกฎาคม 2562 : 19:05 น.

ภาคประชาชนจี้ทบทวนการทดลองโรงไฟฟ้าไซยบุรี หลังเกิดวิกฤติแม่น้ำโขง ยื่นข้อเสนอผ่านกรรมการสิทธิฯ เสนอรัฐบาลคุยประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อหาทางออกเป็นโมเดลโลก

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำโขงภาคเหนือ และนายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เปิดเผยว่า ได้ยื่นข้อเสนอร่วมกับชาวบ้านผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแแห่งชาติ ไปถึงรัฐบาลให้ยกปัญหาแม่น้ำโขงขึ้นมาคุยประสานงานระหว่างประเทศระหว่างลงพื้นที่ดูวิกฤตในแม่น้ำโขง โดย 1.ให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างประเทศหลังจากเกิดเขื่อนในแม่น้ำโขงมา 23 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันเกิดขึ้น 11 เขื่อน และเจอกับปัญหาการระเบิดเกาะแก่งใน จีน สปป.ลาว และเมียนมา ดังนั้นต้องพูดคุยบนพื้นที่ของความรู้และสรุปปัญหาของแต่ละประเทศ ว่าชาวบ้านเดือดร้อนอะไรเพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาค

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ประเด็นที่ 2.เมื่อรู้ปัญหาแล้วต้องรีบสร้างกลไกความร่วมมือ เพื่อบรรเทาความเสียหายทั้ง พืช ปลา และวิถีเกษตรกรรม นอกจากนี้ สิ่งที่ควรจะหยิบยกมาพูดคุย คือ อนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพฯ อนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำฯ และอนุสัญญาไซเตส เป็นต้น เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศสากลที่ยังไม่มีการนำมาพูดถึง เพื่อเป็นแนวทางในระดับสากล และประเด็นที่ 3.ต้องมีการทบทวนโครงการใหม่ๆ บนแม่น้ำโขงทั้งหมด เช่น การสร้างเขื่อนที่จะเกิดขึ้นอีก จะต้องที่ไม่สร้างผลกระทบให้รุนแรงขึ้น ปีนี้ถือว่าเสียหายรุนแรงที่สุดจนเป็นภัยธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาที่ผ่านมาเป็นปัญหา

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ถ้ามีปัญหาแล้วเกิดการแก้ไขอย่างยั่งยืน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาร่วมกันระดับโลก ผมอยากให้เป็นกรณีศึกษาเป็นโมเดลหนึ่งของโลก ถ้าสามารถทำได้ ก็จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก ตั้งอยู่ที่แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว กำลังผลิตติดตั้ง 1,275 MW มีกำหนดการส่งไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในเดือนต.ค. 2562 นี้ เขื่อนดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากไม่มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนในเขตประเทศไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ด้าน น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย International Rivers (Pisnporn Deetes, Thailand Campaign Director) กล่าวว่า สถานการณ์แม่น้ำโขงแล้งในเวลานี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ปริมาณน้ำฝนที่น้อยทั้งภูมิภาค ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงน้อยลง 2.เขื่อนจิงหง ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนบน ในยูนนาน ลดการระบายน้ำเหลือเพียง 500 ลบ.ม./วินาที โดยอ้างว่าเพื่อซ่อมแซมระบบสายส่งไฟฟ้า และ 3.เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนสัญชาติไทยในดินแดนลาว ของ บริษัทซีเคพาวเวอร์ ซึ่งมีความคืบหน้า 99.3 % อยู่ในขั้นตอนทดสอบระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดทั้งหมด 7 เครื่อง ไปจนถึงระบบสายส่งไปยันถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

น.ส.เพียรพร กล่าวว่า ได้หารือกับ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เห็นว่ากรณีเขื่อนจีน เจ้าของเขื่อนจำเป็นต้องมีการต้องวิเคราะห์ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง และลำน้ำสาขา ก่อนที่จะลดการระบายน้ำ แม้จะเป็นการซ่อมแซมบำรุงระบบสายส่งของเขื่อนที่ทำประจำปี แต่ต้องพิจารณาวิเคราะห์ ว่าหากปริมาณน้ำอยู่ในระดับต่ำมาก หากจำเป็นจริงๆ ก็ควรปิดซ่อมเพียงแค่ระยะสั้นที่สุด และรีบระบายน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขงตอนล่างอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำ

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ