ตรัง-กรมอุทยานฯ ส่งเรือ 2 ลำมาช่วยเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เพื่อลาดตระเวนเฝ้าระวังพะยูนหลังล่าสุดพบตายเพิ่มอีก 2 ตัว ในพื้นที่ ตรัง-กระบี่ พร้อมเน้นดูแล
จากปัญหาการเกยตื้นของพะยูนทั้งที่รอดชีวิต และตายรายวันในทะเลอันดามัน ตรัง-กระบี่ กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ และทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเริ่มรู้จักพะยูนแห่งท้องทะเลไทยกันมากขึ้น เริ่มวิตกกังวลถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งการที่ลูกพะยูนพลัดหลงกับแม่ แต่ลูกได้รับการช่วยเหลือจนรอดชีวิตเช่น มาเรียม และ ยามีล รวมทั้งปัญหาพะยูนตัวใหญ่เกยตื้น หรือมีการตัดเขี้ยวพะยูนเพศผู้ จำนวน 2 ตัว ตลอดจนมีลูกพะยูนที่ตายลงในท้องทะเลตรัง นับตั้งแต่ต้นปี 2562 จำนวนถึง 8 ตัว รวมทั้ง 2 ตัวล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ซึ่งเป็นพะยูนเพศผู้ วัย 70 ปี ถูกตัดเขี้ยว และพะยูนน้อยวัย 6 เดือน เพศผู้ ที่เกยตื้นตายเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่บริเวณแหลมจุโหย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง กล่าวว่า เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงมีจำนวนถึง 1.2 แสนไร่ ทำให้ยากต่อการดูแลเฝ้าระวังพื้นที่ ล่าสุดทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ได้รับเรือสำหรับใช้ลาดตระเวนเฝ้าระวังพะยูนในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งบริเวณแหล่งอนุบาลมาเรียม เพิ่มจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาอีก 2 ลำ ประกอบด้วย เรือยาง ขนาด 5.8 เมตร จำนวน1 ลำ และเรือไม้หัวโทง จำนวน 1 ลำ ทำให้ขณะนี้ทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง มีเรือสำหรับการปฏิบัติงานลาดตระเวนเฝ้าระวังพะยูนเกยตื้นในพื้นที่ รวม 3 ลำ โดยเรือ 1 ลำ จะจอดไว้เตรียมพร้อมเหตุการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชม.
ขณะเดียวกันยังได้รับนโยบายจาก นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำชับให้ดูแล มาเรียม อย่างเต็มที่ และจะมีการส่งกำลังเข้ามาเสริม ทั้งทีมสัตวแพทย์จากกรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่จากอุทยานฯ ใกล้เคียง หรือถ้าไม่พอก็จะร้องขอไป พร้อมมีการจัดเวรยามร่วมกับฝ่ายปกครอง อบต.ในการเฝ้าระวังพื้นที่ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังเรือทุกชนิดห้ามเข้าบริเวณที่ทำการอนุบาล มาเรียม อย่างเด็ดขาด อาจเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของพะยูนน้อยได้