พช.น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ยกระดับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตั้งเป้าสร้างความอยู่ดีกินดี 878 อำเภอทั่วประเทศ
นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในพื้นที่หมู่บ้าน 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ บ้านวัดโบสถ์ หมู่ที่ 5 ต.เมืองบางขลัง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย บ้านร้องลึก หมู่ที่ 6 ต.ผักขวง อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ และบ้านจอมทอง หมู่ที่ 6 ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก
นายสมหวัง เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ชาวไทยที่ได้ร่วมใจกันจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรชัยมงคล ซึ่งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมเป็นหนึ่งในการแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี ผ่านการดำเนิน “โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ด้วยการน้อมนำการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ของประชาชนในชุมชน/หมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความสุขอย่างยั่งยืน ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของการดำเนินโครงการในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการพัฒนาชุมชนและสร้างความสุขของประชาชน ด้วยวิธีใช้พลังการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีการพัฒนา ยกระดับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
สำหรับ การขับเคลื่อนโครงการกรมฯ กำหนดดำเนินการในพื้นที่ 878 อำเภอ ๆ ละ 1 หมู่บ้าน ระหว่างเดือนพ.ค. ถึงเดือนก.ค. 2562 โดยมีผู้นำ อาสาสมัคร องค์กร เครือข่ายในชุมชน และคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจน และพัฒนาชนบทตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งการดำเนินโครงการที่ผ่านมา 2 เดือน ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพี่น้องประชาชน และภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้การดำเนินโครงการในภาพรวมมีความก้าวหน้าไปแล้วมากถึง 90% มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 100,000 คน
รองอธิบดีพช. กล่าวว่า มีการพิจารณาจาก 13 ตัวชี้วัด อาทิ การจัดทำบัญชีครัวเรือน การบริหารจัดการขยะ การบริหารจัดการหนี้ มีกองทุนสวัสดิการ และเป็นชุมชนปลอดอบายมุข เป็นต้น และหากชุมชนใดสามารถดำเนินการด้านใดได้โดดเด่นก็จะได้รับการพัฒนาส่งเสริม มากขึ้น พร้อมทั้งเป็นแนวทางให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
“สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางขับเคลื่อนโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานที่สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับครัวเรือน จะเป็นการเสริมสร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชนในชุมชน/หมู่บ้านทุกมิติไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแบบค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับของการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่จะนำไปสู่การสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง” รองอธิบดีพช.กล่าว