สกลนคร-อธิบดีสถ.นำทีมจิตอาสาลงพื้นที่แบ่งปันให้ความรู้เรื่องศาสตร์พระราชา พร้อมตรวจเยี่ยมการพัฒนาพื้นที่กสิกรรมธรรมชาติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะจิตอาสา 904 หลักสูตรพื้นฐาน รุ่นที่ 1/62 ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้า งานโคก-หนอง-นา โมเดล แปลงต้นแบบของเครือข่ายที่เริ่มพัฒนาพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมเสวนา เรื่องการพัฒนาพื้นที่กสิกรรมธรรมชาติ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และให้การเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชาแก่สมาชิกจิตอาสา จ.อุดรธานี และ สกลนคร โดยมี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และแกนนำชุมชนร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ณ ศูนย์เรียนรู้ เครือข่ายคนมีใจกสิกรรมธรรมชาติ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สถ.ได้ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการระเบิดจากข้างใน มาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมุ่งเน้นในการดำเนินการในเรื่องใดๆ ก็ตาม จะต้องรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งและลงไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นให้อยากจะมีส่วนร่วมในการดำเนินการ โดยลงไปประชุมชี้แจง ให้ทราบถึงเป้าหมายและวิธีการในการดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ศาสตร์พระราชาถือเป็นปรัชญา หรือทฤษฎีที่ทรงคุณค่า สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้และปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อม สภาพบุคคล และสถานการณ์ สอดคล้องและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่ง สถ.ก็ได้นำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นผ่านโครงการและกิจกรรมสำคัญต่างๆ เช่น การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ ในโครงการ “โรงเรียนพอเพียงท้องถิ่น” หรือโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของ อปท. เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้นทาง และบริหารจัดการขยะอันตรายอย่างถูกวิธี ตามแนวทาง 3 Rs คือ Reduce การลดการใช้การบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็น Reuse การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำมาใช้ซ้ำ Recycle
นอกจากนี้ ยังมีโครงการ "น้ำคือชีวิต : ศาสตร์พระราชาสู่แปลงเกษตรผสมผสานประชารัฐ" ที่ส่งเสริมสนับสนุน อปท. ให้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในลักษณะประชารัฐ จัดหาที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ ขนาด 5 – 10 ไร่ มาจัดทำแปลงเกษตรผสมผสานขนาดแปลงละ 1 – 2 งาน จัดหาแหล่งน้ำ และ วางระบบ การนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในแปลงเกษตรผสมผสานได้อย่างเพียงพอ หรือ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ที่เป็นการบริหารจัดการน้ำในระดับครัวเรือน บริเวณที่อยู่อาศัย ทำได้ง่าย ใช้งบประมาณไม่เยอะ ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นสามารถได้ประโยชน์
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการโคก-หนอง-นา โมเดล จะมีการจัดการเลือกวิธีการซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้สำเร็จเร็ว อย่างเป็นระบบ ซึ่งสถ.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการดังกล่าว และจะได้ขยายผลไปยังท้องถิ่นต่างๆโดยใช้ท้องถิ่นที่ดำเนินการประสบผลสำเร็จมาเป็นต้นแบบในการดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังการพูดคุยร่วมกัน มีกลุ่มจิตอาสาและประชาชนในเขตพื้นที่ให้ความสนใจในการจัดทำโคก-หนอง-นา โมเดล กว่า 50 ราย แต่ติดขัดไม่มีงบประมาณในการจัดจ้างรถแบ็คโฮ จึงได้ประสานงานกับนายกอบจ.สกลนคร นำรถแบ็คโฮมาดำเนินการให้โดยเร็ว พร้อมทั้งขอให้อบจ.สกลนคร ช่วยจัดสร้างอาคารอเนกประสงค์ เพื่อบริการประชาชนที่สนใจมาศึกษาเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โคก-หนอง-นา โมเดล เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ผู้สนใจต่อไป