THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

26 กุมภาพันธ์ 2562 : 14:49 น.

อธิบดีสถ.ลงพื้นที่ จ.ลำพูนเมืองสะอาด เปิดกิจกรรมเปิดจวนผู้ว่า “ครัวเรือนต้นแบบลด คัดแยกขยะที่ต้นทาง” พร้อมติดตามโครงการ “ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน” ชูลำพูนเป็น 1 ในทุกมิติของการบริหารจัดการขยะ

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรม เปิดจวนผู้ว่า “ครัวเรือนต้นแบบลดคัดแยกขยะที่ต้นทาง” โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมผู้บริหาร สถ.ร่วมกิจกรรม และมีนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ผวจ.ลำพูน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกเหล่ากาชาดจ.ลำพูน ให้การต้อนรับ ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า จ.ลำพูนตระหนักถึงปัญหาขยะมูลฝอยแลได้ดำเนินการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ จังหวัดสะอาด ในปี 2560 และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย เป็นผลมาจากการรณรงค์ให้ประชาชนทุกหมู่บ้าน/ชุมชน บริหารจัดการขยะอินทรีย์ หรือขยะเปียกด้วยตนเอง เป็นจังหวัดแรกของประเทศ และในปี 2561 จ.ลำพูนได้ต่อยอด โดยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกัน ลด ละ เลิก การใช้โฟมบรรจุอาหาร ซึ่งทุก อปท./อำเภอ สามารถประกาศเจตนารมณ์เป็นพื้นที่ปลอดโฟมบรรจุอาหารได้ครบทุกแห่งด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่มาเยี่ยมชมด้วยตนเอง และยังได้กล่าวชื่นชม หลายครั้งด้วย เพราะจ.ลำพูน ได้ทำให้คำมั่นสัญญาที่ประเทศไทยได้ให้ไว้กับ UNFCCC เมื่อปี 2558 ที่ว่าประเทศไทยจะช่วยรักษาโลกนี้ให้ยืนยาว เป็นโลกที่มีอนาคตที่สดใสกำลังจะเป็นจริง

นอกจากนั้น การขยายผลเป็นปีที่ 3 จ.ลำพูน จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะในโครงการจังหวัดเคลื่อนที่ และประสานความร่วมมือจากแม่บ้านมหาดไทย จ.ลำพูน ในการจัดกิจกรรมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานคัดแยกขยะในครัวเรือน โดยเริ่มต้นจากผู้บริหารหน่วยงาน ผวจ.ลำพูน นายอำเภอ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่าย ทสม. เครือข่าย อสม. และเครือข่ายอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานต่อเนื่องในระดับครัวเรือนและครอบคลุมทั้งจังหวัด

อธิบดีสถ.กล่าวว่า ได้มาติดตามโครงการ ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน การจัดเก็บข้อมูลขยะเปียกครัวเรือน ซึ่งในอนาคตสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้ หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็อาจมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนได้ ซึ่งทางภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นผู้ที่จะพัฒนาระเบียบวิธีวิจัยการประเมินและรับรองผล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ