มุกดาหารเปิด 20 ชุมชนรับ "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" เชื่อมโยง 4 เส้นทาง "ริมแม่น้ำโขง-วัฒนธรรมชนเผ่า-นิเวศธรรมชาติ-ธรรมะ"
นายสุระชาติ พรหมดิเรก รักษาราชการแทน พัฒนาการจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมุกดาหาร ได้นำสื่อมวลชนจากส่วนกลาง สื่อมวลชนท้องถิ่น และผู้นำท้องถิ่น ลงพื้นที่บ้านโนนสว่าง อำเภอเมือง และบ้านคำพอก อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร เพื่อชมและสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชน เสน่ห์ความงดงามของท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณี และอาหารพื้นถิ่น ที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับนักท่องเที่ยว ได้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และเข้ามาท่องเที่ยวยังหมู่บ้านดังกล่าว เพื่อยกระดับ อาชีพ รายได้ จากการท่องเที่ยว ของหมู่บ้าน ชุมชน และกิจกรรมต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว เช่น การให้บริการที่พัก การจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์ ของดีของฝาก ของที่ระลึกของชุมชน
ทั้งนี้ โครงการ "ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี" ถือเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชนในหมู่บ้านอย่างมั่นคงจากการท่องเที่ยว จังหวัดมุกดาหาร เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร, ประวัติศาสตร์, ศาสนา, ศิลปะ และประเพณีวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมุกดาหารมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชนพื้นเมือง 8 ชนเผ่า ประกอบไปด้วย ไทอีสาน ภูไท ข่า ไทกระโซ่ ไทกะเลิง แสก ย้อ กุลา และ 2 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม โดยในปี 2561 มีชุมชนที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 20 ชุมชน และพร้อมที่จะเปิดให้บริการนักท่องเที่ยว มาสัมผัสกับ วิถีชีวิต ภูมิปัญญาวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และความงดงามของทรัพยากรธรรมชาติ ของจังหวัดมุกดาหาร
สำหรับ โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี หรือเรียกทั่วไปว่า “แอ่งเล็ก เช็คอิน” จำนวน 3,273 หมู่บ้าน เป็นโครงการภายใต้โครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" ตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นการพัฒนา OTOP รูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นสู่การสร้างรายได้ตามความต้องการของชุมชน เพื่อเป้าหมายในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้
นายสุระชาติ กล่าวว่า เน้นการดึงนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนให้ชาวบ้านได้ขายสินค้าอยู่ในชุมชนของตนเองเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน โดยการดึงเสน่ห์ภูมิปัญญาวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์มาแปลงเป็นรายได้ ทำให้เกิดการกระจายรายได้ภายในชุมชน ช่วยส่งเสริมการสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยทุกคนในชุมชนพร้อมเป็นเจ้าบ้านที่ดี อันจะส่งผลให้ลูกหลานมนชุมชนไม่ต้องออกไปหารายได้จากภายนอกชุมชน เป็นนโยบายในการขับเคลื่อนชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างสรรค์ความผาสุกในบ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน