THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

20 ตุลาคม 2561 : 14:12 น.

ชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสปูสองแควปูหายากใกล้สูญพันธุ์ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาปรระดู่

นายพงษ์สวัสดิ์ นิพิฐปัญญา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ หมู่ 2 บ้านป่าคาย ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ได้นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินป่าสำรวจพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นฐานในด้านต่างๆ ทางธรรมชาติ บริเวณป่าห้วยคลองเฉลียง โดยเฉพาะในระยะนี้เข้าสู่ช่วงปลายฝนต้นหนาวก็จะพบกับปูชนิดหนึ่งออกมาจากรู ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปูแป้ง” หรือ ปูสองแคว ซึ่งเป็นปูป่าที่มีลักษณะสีสันสวยงามหายาก

ทั้งนี้ มีลักษณะสวยงาม มีสีสันสดใส ผิดจากปูที่พบเห็นทั่วไป คือ ขอบใต้ดวงตาของปูจะมีเส้นสี ขาวโค้งรับกับลูกตา ก้ามปูมีสีน้ำเงินเข้มตลอดก้าม บางตัวก้ามมีสี เช่น ปลายสุดของก้ามมีสีอ่อนฟ้าควันบุหรี่ โคนก้ามเป็นสีฟ้าอ่อน บางตัวมีก้ามสีเหลือง และก้ามสีส้ม สดใสสวยงามมาก ส่วนกระดองปูบางตัวมีสีเทา และบางตัวมีสีดำสนิท ขนาดของลำตัวปู ตัวเต็มวัย ยาว ประมาณ 5-6 เซนติเมตร กินพืชน้ำและแมลงเป็นอาหาร แหล่งที่พบ พบปูสองแควในลำห้วยหรือตามซอกหินที่มีน้ำไหล พื้นเป็นหินและ เป็นแหล่งน้ำซับ ปูสอบแควชอบที่ ร่มครึ้ม ตอนกลางวันจะอาศัยอยู่ในรู ที่มีความลึกประมาณ 1-1.5 เมตร และออกหากินบนบกในเวลา กลางคืน

อย่างไรก็ตาม ปูสองแคว เป็นปูที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืนหรือในช่วงที่อากาศมืดครึ้ม กินพืชและสัตว์เล็กๆ หรือตัวอ่อนของแมลง ปูชนิดนี้ไม่ชอบอยู่ในน้ำจะใช้การเดินแบบคืบคลาน และแม่ปูจะออกลูกในช่วงปลายฤดูฝนต้นหนาว จะขุดรูอยู่เป็นกลุ่มตามริมลำห้วยที่ร่มครึ้ม ความลึกของรูปูตั้งแต่ 0.15-1.20 เมตร ถือว่าเป็นสัตว์ป่าพื้นถิ่นที่หาชมได้ยากยิ่ง ปัจจุบันมีน้อยลงจากการสำรวจพบว่ามีประชากรปูสองแคว เหลือเพียงประมาณ 1,000 ตัวเท่านั้น หากไม่อนุรักษ์ไว้อาจจะสูญพันธุ์ได้ มีแหล่งกำเนิดเฉพาะที่ จ.พิษณุโลก เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ ศ.ดร.ไพบูลย์ นัยเนตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ศึกษาเพื่อพิสูจน์ชนิดพันธุ์ และเมื่อเดือนมิ.ย.2541 ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบในเบื้องต้นว่าเป็นปูพันธุ์ใหม่ จึงตั้งชื่อว่า“ปูสองแคว” ดังกล่าว

สำหรับ นักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะมาศึกษาธรรมชาติ หรือต้องการชมวิถีชีวิตของปูสองแควในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ ก็สามารถเดินทางมาได้ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ หรือโทรสอบถามที่หมายเลข 087-1987987

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ