วธ.เผยผลโพล “วันมาฆบูชา : นำธรรมะสู่ใจประชาชน” ปชช. ร้อยละ 74.55
ทราบว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์เป็นครั้งแรก
“ลด ละ เลิกอบายมุข-เวียนเทียน ทำบุญตักบาตร-สวดมนต์ นั่งสมาธิ” คือสิ่งที่ชาวพุทธอยากทำวันมาฆบูชา
เผย “พ่อ แม่/ปู่ย่า ตายาย/ญาติ” เป็นส่วนสำคัญเชิญชวนคนรุ่นใหม่ร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา (ศน.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นประชาชนเนื่องใน วันมาฆบูชาเรื่อง “วันมาฆบูชา : นำธรรมะสู่ใจประชาชน” จากกลุ่มตัวอย่าง 5,482 คนทั่วประเทศ พบว่าชาวพุทธร้อยละ 74.55 ทราบว่าวันมาฆบูชามีความสำคัญคือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง“โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน 3 รองลงมาร้อยละ 74.35 ระบุว่าเป็นการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาคือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ และร้อยละ 67.06 เป็นวันพระสงฆ์ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์มาชุมนุมพร้อมกัน 1,250 รูปโดยมิได้นัดหมาย และสำรวจความคิดเห็นประชาชนถึงกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาที่เด็กเยาวชน และประชาชนอยากทำในวันมาฆบูชา พบว่า 3 อันดับแรกคือ 1.ลด ละ เลิกอบายมุข 2.เวียนเทียน ทำบุญตักบาตรถวายสังฆทาน 3.สวดมนต์ นั่งสมาธิ รักษาศีล เป็นต้น เมื่อถามว่ารับทราบการจัดกิจกรรมมาฆบูชาจากที่ใด ร้อยละ 65.08 ทราบจากโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก/ไลน์) ร้อยละ 60.09 จากโทรทัศน์ และร้อยละ 37.78 จากหน่วยงานส่วนภูมิภาค (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ)
จากการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวพบว่าสิ่งที่เด็กเยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ ศน.ขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา 3 อันดับแรกระบุว่า 1.จัดสวดมนต์เย็น เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรม 2.เวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุ/วัด/สถานปฏิบัติธรรม และ 3.จัดกิจกรรม “มีเทศน์ มี Talk” /ธรรมะอารมณ์ดี เป็นต้น นอกจากนี้ยังสอบถามความคิดเห็นว่าในฐานะพุทธศาสนิกชนตั้งใจนำหลักธรรมมายึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน พบว่าหลักธรรมที่จะนำมายึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน 3 อันดับแรก คือ 1.ศีล 5 2.หิริโอตัปปะ (ความละอายต่อบาปและความเกรงกลัวบาป) 3.พรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)
รัฐมนตรีว่าการ วธ. กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นถึงวิธีการจูงใจและบุคคลที่จะเชิญชวนให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ และชาวพุทธเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันมาฆบูชา 5 อันดับแรกระบุว่า 1.พ่อ แม่/ปู่ย่า ตายาย/ญาติ พี่น้องเป็นส่วนสำคัญในการเชิญชวนและพาลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชา 2.หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องบูรณาการการกันขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในมิติทางศาสนา 3.ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 4.เปิดแหล่งเรียนรู้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรือส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และ 5.นำศิลปินดารา บุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมรณรงค์/เชิญชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ ได้สอบถามว่าเนื่องในวันมาฆบูชาตั้งใจจะทำความดีอะไรเพื่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ 3 อันดับแรกระบุว่า 1.ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง 2.แสดงความรัก ความปรารถนาดี และการแบ่งปันในครอบครัว และ3.ทำจิตใจให้เป็นสุข ละเลิกอบายมุข โดยมีสติเป็นเครื่องเตือนใจ และจากการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวประชาชนได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกิจกรรม/ประเพณีทางพระพุทธศาสนาเพื่อสืบสานรักษาไว้ให้คงอยู่คู่สังคมไทย อาทิ 1.ต้องร่วมกันสืบทอดประเพณีทางพุทธศาสนาด้วยการไปเวียนเทียน ทำบุญ สวดมนต์ 2.วัดและหน่วยงานราชการต้องจัดกิจกรรมประเพณีทางพุทธศาสนาให้คู่ศาสนาพุทธและคนไทย 3.ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เด็กเยาวชนต้องร่วมกันจัดกิจกรรมสำคัญทางศาสนและใช้มิติทางศาสนาร่วมสร้างความรัก และสามัคคีให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นต้น