THAI NEWS

03 มีนาคม 2566 : 07:00 น.

เตรียมปรับโครงสร้างและปรัชญาสู่ “กรมส่งเสริมการเรียนรู้”

ช่วงปลายปี พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ... ต่อรัฐสภา และที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) ที่จะได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” มีสภาพทางกฎหมายเป็นนิติบุคคล โดยตำแหน่งเลขาธิการ กศน. จะเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอธิบดีกรมใหม่ เพื่อให้เกิดการทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น และครอบคลุมการดูแลการศึกษาให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยอย่างแท้จริง สอดคล้องกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง เสมอภาค และเท่าเทียม

ความเป็นมาและปรัชญาดั้งเดิม

รากฐานขององค์กร กศน. เริ่มต้นจากสถานะกองการศึกษาผู้ใหญ่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2483 ก่อนจะยกระดับขึ้นเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2522 โดยในระยะเริ่มต้นดำเนินการจัดการศึกษาพื้นฐาน ข่าวสารข้อมูล และทักษะอาชีพ ภายใต้ปรัชญา “คิดเป็น” ต่อมา เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และได้มีการปรับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการ ในปี พ.ศ. 2546 องค์กรจึงกลายสภาพเป็นสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ส่งผลให้สภาพความเป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลง และองค์กรได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นสำนักงาน กศน. ในปัจจุบัน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2551 และจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ

นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน. กล่าวว่า “หลังจากระยะเวลา 15 ปีในฐานะสำนักงาน กศน. องค์กรของเราได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกรม โดยพระราชบัญญัติฉบับใหม่เน้น ‘การเรียนรู้’ เป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นปรัชญาตั้งต้นดั้งเดิมของหน่วยงานเรา ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกช่วงวัยเกิดการเรียนรู้ในมวลรวม เราเชื่อว่า ทุกคนเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เมื่อเรียนรู้แล้วสามารถแก้ปัญหาได้ตามความต้องการก็จะเกิดความสุข ซึ่งความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น รูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน แนวคิดนี้ต่างจาก ‘การศึกษา’ ที่เน้นมุมมองจากผู้จัดหลักสูตรและยึดหลักสูตรเป็นศูนย์กลาง”

วิสัยทัศน์สู่อนาคต

กรมส่งเสริมการเรียนรู้ยังคงสานต่อภารกิจของสำนักงาน กศน. ในปัจจุบัน ทั้งด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อย่างไรก็ตาม นายคมกฤชเน้นย้ำว่า สถานะใหม่ของกรมฯ จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อหวังผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวไทยในระยะยาว

“จุดเริ่มต้นและความโดดเด่นด้านการจัดการศึกษาของเราคือการส่งเสริมการเรียนรู้แบบไม่เน้นหลักสูตร ผู้เรียนของเราหลายคนต้องเรียนไปทำงานไป หรือต้องการเสริมทักษะอาชีพเพื่อการประกอบอาชีพ ดังนั้น เราจึงหันมาเน้นหัวใจหลักของเรา คือการเรียนรู้ที่ใช้ชีวิตผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่การนำวิชาเรียนมาเป็นศูนย์กลาง เน้นการประยุกต์ใช้ความรู้กับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน อาทิ การใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล และการเป็นผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21”

นายคมกฤชกล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปเพื่อหวังผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวไทยในระยะยาว เมื่อแนวคิดปรัชญาเปลี่ยน กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปทั้งหมด”

ปัจจุบัน สำนักงาน กศน. มุ่งเน้นส่งเสริมแนวคิดและทิศทางในการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมและทันสมัย และได้มีการนำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญผู้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นแนวทางการพัฒนาในอนาคต อาทิ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ควรมีบทบาทในการส่งเสริมให้บุคคลมีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองที่รู้จักสิทธิควบคู่กับหน้าที่และความรับผิดชอบ ควรเน้นการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมากกว่าการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน ควรมีการกระจายอำนาจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยการจัดการเรียนรู้ในส่วนภูมิภาค ควรพัฒนาหลักสูตรเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ และมีระบบเทียบระดับการศึกษาหรือเทียบโอนผลการเรียนหรือเทียบเคียงผลการเรียนเพื่อไปสะสมเพื่อประโยชน์ในการรับรองคุณวุฒิ เป็นต้น

การปฏิรูปจากฐานราก

นายคมกฤชกล่าวว่า “ภายหลังการยกฐานะเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้แล้ว การดำเนินงานจะมีความเปลี่ยนแปลงในหลายองค์ประกอบ”

ประการแรกคือ รูปแบบการศึกษาภายใต้การดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเรียนรู้จะแตกต่างออกไป โดยจะมีการพัฒนาหลักสูตรของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ขึ้นใหม่ ที่เน้นการเรียนรู้แบบอิงกับชีวิตและสถานการณ์จริงของผู้เรียน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ก็จะต่างจากเดิมเพื่อเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองให้มากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน

ประเด็นสำคัญที่ต้องจะเน้นย้ำในอนาคตคือการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้กับผู้เรียน เพราะสังคมในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนี้อย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากการอบมรมครูให้มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล การปรับการใช้พื้นที่ห้องสมุดประชาชนให้เอื้อกับสังคมดิจิทัลมากขึ้นไปจนถึงการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างเอกภาพด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีของศูนย์การเรียนรู้ประเภทต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้กรมฯ เป็นที่ปรึกษาของประชาชนทุกช่วงวัยได้อย่างแท้จริง

ประการที่สองคือ การปรับโครงสร้างของหน่วยงานให้สอดคล้องกับยุคสมัย เพื่อตอบสนองภารกิจใหม่ๆ โดยจะเน้นการรับฟังความคิดเห็นจากบุคลากรของสำนักงาน กศน. เอง รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วทุกภูมิภาค

ประการถัดมาคือ การปรับอัตรากำลังคน พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายฉบับใหม่ มุ่งประสงค์ออกแบบการบริหารบุคลากรให้สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังในระยะยาว ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ทุกคนต้องอยู่ ทุกคนต้องก้าวหน้า” เพราะการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับใครและจะไม่มีบุคลากรคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ประการสุดท้ายคือ การมีระบบตัวชี้วัดและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบการดำเนินงานในการเปลี่ยนผ่านของสำนักงาน กศน. สู่กรมส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

การเปลี่ยนผ่านไร้รอยต่อ

นายคมกฤชเน้นย้ำว่า การยกระดับองค์กรในครั้งนี้จะส่งผลดีกับนักเรียนนอกระบบโรงเรียนและประชาชนทุกช่วงวัย และไม่กระทบกับการจัดการศึกษาในภาพใหญ่ของประเทศ

“แม้ว่าหลักสูตรใหม่ของเราจะออกแบบด้วยปรัชญาที่ต่างออกไป แต่เรายังคงเข้มงวดกับระบบการเทียบโอนที่ชัดเจนและเหมาะสม เพื่อรองรับนักเรียนที่ต้องออกจากระบบโรงเรียนได้อย่างราบรื่นและสามารถสำเร็จการศึกษาภาคบังคับกับเราได้ การออกแบบหลักสูตรการศึกษายังคงมุ่งเน้นเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ มีการพัฒนาสติปัญญาและจิตใจ และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ โดยเรายังคงยึดมั่นในพันธกิจที่สำคัญของหน่วยงาน คือการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประชาชนชาวไทย นอกจากนี้ เราจะมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ เช่น หน่วยงานอาชีวศึกษาหรือหน่วยงานระดับอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนของเราได้รับการศึกษาต่อเนื่องได้ในระดับสูงสุดที่ผู้เรียนมีศักยภาพ”

“การยกระดับจากสำนักงาน กศน. เป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ต้องอาศัยความร่วมมือ ความยืดหยุ่น และการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในสังกัดสำนักงาน กศน. ครู ผู้เรียน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญ เพื่อมุ่งหวังผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวไทยในระยะยาว แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดจะมีกรอบเวลาที่ไม่มาก แต่เชื่อว่า หน่วยงานของเรามีพลัง และสามารถดำเนินการให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงตามเจตจำนงของร่าง พรบ. ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. … ได้เป็นอย่างดี”

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

วังจันทรเกษม ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300

โทร. 0 2628 5065 - 72

Website : www.nfe.go.th

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ