THAI NEWS

27 มกราคม 2566 : 13:37 น.

สวทช. จับมือ อบจ.- สสจ.ปราจีนบุรี เปิด AMED Homeward ระบบบริการดูแลต่อเนื่องผู้ป่วยในที่บ้าน นำร่อง 7 กลุ่มโรคใช้จริงแห่งแรกใน รพ.สต. ปราจีนบุรี

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมเอนกสัมพันธ์ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง จ.ปราจีนบุรี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการเทคโนโลยีดิจิทัลในการใช้งานระบบบริการสุขภาพทางไกล” เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนจังหวัดปราจีนบุรี ในพื้นที่นำร่อง ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พื้นที่ อ.บ้านสร้าง อ.ศรีมโหสถ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี โดยมี นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี นายยุทธชัย แสวงสุทธิ์ ผู้อำนวยการรพ.สต.ลาดตะเคียน รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข และดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เข้าร่วมพิธี

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า  สวทช. เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพทางไกล เพื่อประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการเดินทางมายังสถานบริการสุขภาพของผู้ป่วยแต่ยังคงดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สามารถผลักดันเทคโนโลยีสุขภาพทางไกล ในการสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณสุข และส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สวทช. พร้อมที่ให้การสนับสนุนบุคลากร และทรัพยากร เพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสุขภาพทางไกลที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาและการใช้งานอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยได้รับความไว้วางใจจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมนี้ เข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พื้นที่ อ.บ้านสร้าง อ.ศรีมโหสถ อ.ศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ให้มีประสิทธิภาพ มีความทันสมัย ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน และพร้อมเป็นแบบอย่างของหน่วยงานภาครัฐที่เล็งเห็นความสำคัญทางด้านสุขภาพด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเทคโนโลยีสุขภาพทางไกลเข้ามาประยุกต์ใช้ประโยชน์

สำหรับระบบบริการดูแลต่อเนื่องผู้ป่วยในที่บ้าน (AMED Homeward) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยในที่บ้าน ที่ใช้บ้านเป็นหอผู้ป่วย โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักการแพทย์ดิจิทัลกรมการแพทย์ สำนักสนับสนุนระบบปฐมภูมิ (สสป.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อนำร่องการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยในที่บ้าน ซึ่งออกแบบและพัฒนาต่อยอดจากต้นแบบงานวิจัย AMED Telehealth ของ สวทช. โดยเป็นการให้บริการแก่ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นการให้บริการแบบผู้ป่วยในที่ได้รับการวินิจฉัยโรคตามกลุ่มโรค หรือกลุ่มอาการ ตามข้อบ่งชี้แนวทางและมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยในที่บ้านของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ใน 7 กลุ่มโรคที่ไม่มีความซับซ้อน ได้แก่ 1.โรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง 2.โรคความดันโลหิตสูง 3.โรคแผลกดทับและพื้นที่กดทับ 4.โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ 5.โรคปอดอักเสบ 6 โรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ภายหลังได้รับการผ่าตัด และ 7.โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ สามารถวิดีโอแชทเพื่อติดตามอาการ ดูสถานะของผู้ป่วยทั้งหมด รวมถึงเภสัชกร และพยาบาล สามารถตรวจสอบและรับงานตามแพทย์สั่ง รวมถึงบันทึกหัตถการพร้อมแนบไฟล์ภาพผ่านหน้า Dashboard เพื่อลดข้อผิดพลาดในการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และทีม อีกทั้งสามารถเบิกจ่ายกับ สปสช. ผ่านโปรแกรม e-Claim ซึ่งช่วยลดภาระงานให้เจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

นายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า บทบาทขององค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ในการส่งเสริมและยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงนั้น ตามที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีได้รับการ ถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี จำนวน 94 แห่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมาอยู่ภายใต้การ บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี มีนโยบายในการ ส่งเสริมและยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุข ของสถานีอนามัย เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริม สุขภาพตำบลในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม มาใช้ในการให้บริการประชาชน เพื่อเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทางด้านวิชาการเช่น สวทช. ในการใช้โปรแกรม A-MED ในการรักษา และติดตามดูแลผู้ป่วยแบบทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้ ผู้ป่วยไม่ต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล และได้รับการดูแลต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ใกล้บ้าน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับการรักษาที่โรงพยาบาล ยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ รวมถึง ได้รับความรวมมือจากโรงพยาบาลแม่ข่ายทั้ง 7 อำเภอที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี และ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ยังได้จัดตั้งงบประมาณในการดำเนินการพัฒนาระบบการบันทึกข้อมูลสุขภาพ คือ ระบบ PCC ON CLOUD โดยร่วมมือกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ในการพัฒนาระบบให้กับ รพ.สต.ในเขตพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อให้บริการพี่น้องประชาชนในจังหวัดปราจีนบุรี ด้วยคุณภาพการบริการและมีมาตรฐาน โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ยกระดับการบริการด้านสาธารณสุข เพื่อชาวปราจีนบุรี มีสุขภาพที่ดี

นายยุทธชัย แสวงสุทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สต.ลาดตะเคียน รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ถ่ายโอนสถานีอนามัยและโรงพยาบาลส่วนตำบล หรือ รพ.สต. ให้เข้าอยู่ในการบริหารขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีได้รับการโอน รพ.สต.จำนวน 94 แห่ง หรือ รพ.สต. ทั้งหมดเข้าอยู่ในการบริหารของอบจ. ปราจีนบุรี  จึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และเป็นก้าวสำคัญของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ทำให้หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนได้ตรงจุดและเป็นจุดร่วมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพประชาชน อบจ.จึงมีหน้าที่ในการบริหาร รพ.สต. ให้สามารถบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงแสวงหาเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ และลดภาระงานให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต. และด้วยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ทำให้รู้จักแพลตฟอร์มการให้บริการสุขภาพทางไกล หรือ AMED Telehealth ที่พัฒนาโดย สวทช.

ทั้งนี้หน่วยงานที่สนใจเกี่ยวกับระบบการให้บริการสุขภาพทางไกล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลเพื่อสุขภาพ (HII) ศูนย์วิจัยเครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (A-MED) สวทช. ได้ที่ e-Mail: a-med-hii@nstda.or.th หรือ โทร.02 564 6900 ต่อ 2513

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ