WORK & LIFE

29 สิงหาคม 2565 : 14:35 น.

หากคุณเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอยู่ในละแวกข้างเคียง แน่นอนว่าย่อมเกิดความไม่ไว้วางใจถึงการดำเนินการต่าง ๆ ของโรงงานนั้น ๆ ว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ยิ่งมีข่าวต่าง ๆ ถึงความไม่รับผิดชอบของโรงงานออกมาให้เห็นอยู่เสมอ ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นอยู่เนือง ๆ แต่การจะเหมารวมว่าทุกโรงงานนั้นไม่ดี ก็ไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่

เราจึงขอแนะนำวิธีที่ง่ายที่สุดเพื่อดูว่าโรงงานนั้นมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ คือผ่านมาตรฐานระบบ ISO 14001 หรือไม่นั่นเอง เพราะ ISO 14001 คือ มาตรฐานชั้นนำด้านระบบจัดการสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราลองมารู้จักมาตรฐาน ISO ตัวเลขหลักหมื่นนี้ให้ดียิ่งขึ้นกันดีกว่าว่าคืออะไร

มาตรฐาน ISO 14001 คือ หนึ่งในมาตรฐานสากลที่กำกับดูแลด้านระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ไปจนถึงธุรกิจ SME เป็นระบบกรอบการทำงานเพื่อบูรณาการด้านการปฏิบัติและจัดการสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการปกป้องสภาพแวดล้อม การป้องกันการเกิดมลภาวะ การลดของเสีย รวมไปถึงการลดการใช้พลังงานและการใช้วัสดุ

บางหน่วยงานอย่าง สถาบันรับรองมาตรฐาน ISO ได้นิยามมาตรฐาน ISO 14001 ว่าคือ ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System) หรือระบบ EMS ตามมาตรฐาน มอก. 14001 (ISO 14001) โดยระบบ EMS หมายถึง ส่วนหนึ่งของระบบการจัดการทั้งหมดที่รวมถึงโครงสร้างองค์กร กิจกรรม การวางแผนหน้าที่ความรับผิดชอบ การปฏิบัติ ขั้นตอนการดำเนินงาน กระบวนการและทรัพยากรสำหรับการพัฒนา การนำไปปฏิบัติ การทำให้บรรลุ การทบทวนและการรักษาไว้ซึ่งนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

แม้นิยามอาจจะฟังดูยากเย็น แต่ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ โรงงานหรือธุรกิจใดที่ผ่านการรับรอง ISO 14001 คือถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง เพราะการจะได้ ISO 14001 นั้นไม่ง่าย ต้องอาศัยความตั้งใจ ความจริงใจ และการปฏิบัติทุกขั้นตอนอย่างรัดกุม ตั้งแต่ระดับนโยบาย ผู้บริหาร ไปจนถึงระดับปฏิบัติการ โดยมาตรฐาน ISO 14001 ลงลึกถึงการทำความเข้าใจ ความพร้อม การสื่อสาร การดำเนินงานที่ได้ผลจริง ให้ครอบคลุมตั้งแต่ 

  • บริบทขององค์กร ว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ตลอดจนต้องเข้าใจความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย ซึ่งชุมชนรอบข้างก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากนั้นความต้องการและความคาดหวังนี้ก็จะกลายมาเป็นข้อบังคับขององค์กรและข้อกำหนดขอบเขตในการจัดการสิ่งแวดล้อมต่อไป จากนั้นต้องทำเป็นเอกสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบด้วย
  • ภาวะผู้นํา ว่าให้ความสำคัญ มุ่งมุ่น และเอาใจใส่ในการจัดการสิ่งแวดล้อมแค่ไหน โดยต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในองค์กร ทั้งยังต้องผลักดันให้ระบบ EMSเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ และต้องมั่นใจว่าทรัพยากรที่มีต้องจัดการกับระบบนี้ได้ มีการสื่อสาร ชี้นำบุคลากรให้มีส่วนร่วม ส่งเสริมให้ปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง
  • การวางแผนต่าง ๆ ว่าระบบจะเป็นไปตามเป้าหมาย มีการกำหนดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขอบเขตกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการขององค์กร มีระบบป้องกัน ลดผลกระทบที่ไม่ต้องการ แผนสำหรับกรณีฉุกเฉิน แผนสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
  • ส่วนสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ต้องกําหนดและจัดหาทรัพยากรที่จําเป็นสําหรับการเริ่มดําเนินการ, นําไปใช้, คงรักษาและปรับปรุงระบบ EMS อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีความสามารถ มีความตระหนัก และมีการสื่อสารถึงระบบอยู่เสมอทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  • การปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน ให้เป็นไปตามการวางแผนและควบคุมการปฏิบัติงาน ตลอดจนมีการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินตลอดเวลา
  • การประเมินประสิทธิภาพให้ดีและพร้มอยู่เสมอ มีการเฝ้าติดตาม ตรวจวัด วิเคราะห์ และประเมินผล มีการออกแบบโปรแกรมการตรวจสอบภายใน และมีการทบทวนโดยฝ่ายบริหารอยู่เสมอ
  • การปรับปรุงหากเกิดข้อที่ต้องแก้ไข ความไม่สอดคล้อง ต้องรีบดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงทันที 

เหล่านี้เป็นเพียงการอธิบายคร่าว ๆ ที่บอกว่าโรงงานหนึ่ง ๆ ต้องจัดการกับตัวเองมากน้อยเพียงใดเพื่อให้ได้มาซึ่ง ISO 14001 และยังมีข้อปลีกย่อยอีกมากมาย ซึ่งจะมีคณะกรรมการตรวจสอบจากภายนอกเข้ามาประเมินตั้งแตขั้นตอนเอกสาร จนถึงการตรวจสอบประเมินในสถานที่หน้างาน ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่ยื่นขอไว้อาจถูกลดขอบเขตลงได้ และหากได้รับมาตรฐาน ISO แล้ว ยังต้องมีการประเมินซ้ำทุกปี และต่ออายุ ISO 14001 ทุก 3 ปี หากมาตรฐานไม่เป็นไปตามที่กำหนดก็มีสิทธิ์ถูกเพิกถอนมาตรฐานได้

ดังนั้น ISO 14001 คือ หนึ่งในสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความจริงจัง มุ่งมั่น และตั้งใจของโรงงานหรือธุรกิจองค์กรใด ๆ ที่อยากแสดงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคมที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ