มหาดไทยจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการโอทอปผ้าไทย 24 จังหวัดภาคกลาง – ภาคตะวันออก ผ่านการ Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญาเพิ่มคุณค่าผ้าทอไทย
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่สุวรรณาริเวอร์ไซต์รีสอร์ท อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) กิจกรรมจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย จุดดำเนินการที่ 6 โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าจาก จ.ชัยนาท นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ตราด เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี และประจวบคีรีขันธ์ รวม 65 กลุ่ม ร่วมกิจกรรม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีอย่างมหาศาลของคนไทยทุกคนที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริฟื้นคืนชีวิตของผ้าไทยให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้ง จนถึงวันนี้เป็นเวลามากกว่า 50 ปี โดยพระองค์ทรงโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เยี่ยมเยียนราษฎรทุกภูมิภาคโดยทางรถไฟ เพื่อช่วยเหลือให้พสกนิกรของพระองค์ได้มีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตชาวชนบท ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ที่ชีวิตของพวกเราจะทำอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาเทวดาฟ้าดินให้มีฝน มีแดด มีลม บางปีน้ำท่วมนาข้าวเสียหาย บางปีแล้งนาข้าวก็เสียหาย ปีไหนน้ำดีข้าวอุดมสมบูรณ์ดีแต่ราคาตก จึงทรงมีพระราชดำริในการช่วยเหลือให้พี่น้องเกษตรกรได้มีอาชีพเสริม โดยมีจุดเริ่มต้นที่บ้านท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการทรงวางแผนเรื่องการชลประทานเพื่อบรรเทาอุทกภัยและบริหารจัดการน้ำ "เพราะทรงมีพระราชดำริว่า “น้ำคือชีวิต” สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จไปเยี่ยมดูถึงครัวเรือนถึงบ้าน และได้เห็นการแต่งกายของชาวบ้านด้วยผ้าซิ่นทอมือที่มีความวิจิตรสวยงาม ทำให้ทรงฉุกคิดทันทีว่า “ผ้าทอไทย” ด้วยพรสวรรค์ที่มือสองมือของคนไทย คือเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพเสริมของเกษตรกร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพาร อาทิ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต ฯลฯ ลงพื้นที่ไปฝึกสอนชาวบ้าน ฝึกสอนสมาชิกในกลุ่มในทุ่มเทพัฒนาผลิตผ้า ด้วยการทอขายให้กับพระองค์ท่านก่อน เป็นที่มาของคำว่า “ขาดทุนคือกำไร” และทรงนำผ้าทอที่ซื้อจากชาวบ้านมาตัดฉลองพระองค์สวมใส่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั่วโลก
“นับเป็นความภาคภูมิใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพวกเราทุกคน ที่เมื่อวันจันทร์ที่ 30 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ทรงเป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์ “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565” จัดโดยสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อพระราชทานพระกำลังใจ เชิดชูเกียรติ ยกย่อง และส่งเสริมบุคคลให้เป็นผู้สืบสานภารกิจด้านผ้าไทยให้คงอยู่เป็นอัตลักษณ์ของผ้าไทยที่งดงาม ทรงคุณค่า เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทย ซึ่งการเสด็จฯ ในครั้งนี้ เป็นเครื่องหมายอันแสดงถึงพระกตัญญูกตเวที และพระราชปณิธานอันแน่วแน่ มุ่งมั่น ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งส่งผลทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้ เพื่อนำรายได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต ครอบครัว และเป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรมมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าเลิศยิ่งของบรรพบุรุษไทยให้คงอยู่คู่กับโลกใบนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งพวกเราทุกคนต้องน้อมนำเป็นแบบอย่าง ได้แก่ 1.ทรงมีพระกตัญญูอย่างยิ่งยวด 2.ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี 3.ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่อยากให้พวกเรามีกำลังใจในการช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนให้ผ้าไทย ยังคงมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าราชการทุกคน” ต้องเป็นผู้นำของสังคม จังหวัด อำเภอ สวมใส่ผ้าไทยเป็นตัวอย่าง ตามแนวทาง “ผู้นำต้องทำก่อน”” นายสุทธิพงษ์กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีอีกครั้งหนึ่งของช่างทอผ้าและคนไทยทุกคน อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่และมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ได้ทรงซึมซับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ในการโดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในทุกปิดภาคเรียน ขณะทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ทั้งพื้นที่กลางป่า กลางเขา สกลนคร นครพนม นราธิวาส อุบลราชธานี ยะลา กระทั่งทรงมีความแน่วแน่ที่จะศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อด้านแฟชั่นดีไซน์ในต่างประเทศ แล้วทรงทดลองฝึกฝน ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ด้วยพระองค์เอง กระทั่งเกิด “แสงประทีป” สร้างความอบอุ่น ทำให้ชีวิตงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม งานศิลปาชีพผ้าไทย สว่างโชติช่วงชัชวาล โดยเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง คือ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 63 พระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี และพระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” โดยพระองค์ประทับนั่งบนกี่ทอผ้า และพระราชทานลายผ้าให้กับอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 29 แวดล้อมไปด้วยพี่น้องผู้ประกอบการ OTOP อันเปรียบประดุจแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ทำให้ตั้งแต่หลังวันที่ 21 ธ.ค.63 เกิดเสียงดังที่ใต้ถุนบ้านทุกหลังในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน นั่นคือเสียงกี่ที่กระทบกันเพื่อทอผ้าลายพระราชทานกันตลอดทั้งวันทั้งคืน และทรงโปรดให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จดลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชานุญาตให้กลุ่มช่างทอผ้าทุกกลุ่มสามารถนำไปใช้ได้ทุกเทคนิค ประยุกต์ดัดแปลงเข้ากับอัตลักษณ์ของชุมชนได้ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้พบว่าในหลายหมู่บ้าน ยังทอไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการทอผ้าได้รอดตายจากภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างหาที่สุดมิได้ของพวกเราทุกคน
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการทอผ้าอย่างครบวงจรในหลายประการ ได้แก่ 1.ต้องทะลายกำแพงค่านิยมที่ว่า ผ้าไทยเป็นของโบราณ คร่ำครึ คนมีอายุเท่านั้นจึงจะสวมใส่ได้ ด้วยการพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” 2.คิดวางแผนตั้งแต่ต้นว่าเราจะผลิตลวดลายแบบไหน สีสันแบบไหนให้มีความทันสมัย ด้วยการนำลายดั้งเดิม (Original) มาพัฒนาต่อยอด โดยทรงพยากรณ์คาดเดารสนิยมความนิยมชมชอบในวงการแฟชั่นของลูกค้าในอนาคต นำมาสู่หนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK ที่ทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง 3.ต้องมีเรื่องราวที่บอกความหมาย (Story Telling ) 4.บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม (Packaging) 5.วัตถุดิบที่ใช้ต้องเป็นธรรมชาติ และต้องหาพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ เพื่อทดแทนต้นไม้ให้สีที่ได้ใช้ไป 6. ต้องพึ่งพาตนเอง ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้ายได้ 7.ต้องถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย และ 8) ให้ความสำคัญกับเรื่องการตลาด ด้วยการทำการตลาดสมัยใหม่
ทั้งนี้ พระองค์จะทรงเน้นย้ำในทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทรงงานกับพี่น้องประชาชน ด้วยการสอนให้ทำ สอนให้แก้ สอนให้ปรับปรุง นำพื้นฐานแบบลายเก่ามาประดิษฐ์ลายใหม่ โดยทรงทำเป็นตัวอย่าง คือ การพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และต่อมาพระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” พร้อมทั้งทรงสอนให้ใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า เพราะสีธรรมชาติช่วยทำให้โลกมีอายุยืนยาว สิ่งแวดล้อมดี คนที่ต้องย้อมผ้าปลอดภัย คนสวมใส่ปลอดภัย และยังช่วยเรื่องการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยของเสีย เคมี สู่ดิน น้ำ และที่สำคัญที่สุด เป็นการยืนยันว่าทรงคำนึงถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลักการ “พึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากน้ำพระราชหฤทัยที่รักและเป็นห่วงพวกเรา ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่ไหน ทุกลมหายใจของพระองค์จะคิดถึงพวกเราทุกคน ด้วยการทรงเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า ด้านการออกแบบ Fashionis สมัยใหม่ เช่น โจ-ธนันท์รัฐ โรจน์-ISSUE เป็นต้น มาให้คำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อต่อยอดพัฒนางานให้เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงหาวิธีพัฒนาทักษะฝีมือการทำงานทอผ้าที่เป็นเลิศ เพื่อทำให้พวกเรามีทักษะ มีพัฒนาการในการผลิตชิ้นงานมีคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีเส้นชัยไว้ให้พวกเราได้แข่งขัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยได้พระราชทานเหรียญรางวัลที่มีลักษณะอันงดงามและสูงค่ายิ่ง คือ มีพระพักตร์เปี่ยมไปด้วยความเมตตา มีดอกแคทลียาควีนสิริกิติ์ที่พระเกศา อันเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ทรงมีพระกตเวทิตาคุณอย่างสูงยิ่งต่อสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชทานพระนามย่อ ส.ร. ภายใต้พระจุลมงกุฎย่ออยู่ด้านหลังเหรียญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้พวกเราได้เร่งรัด ได้ใช้เวลาทุกนาทีให้เกิดประโยชน์ นำเอาผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญาไปผลิตเป็นชิ้นงาน และส่งเข้าประกวด เพื่อนำเหรียญรางวัลกลับมาเป็นเกียรติเป็นศรีกับวงศ์ตระกูลและกลุ่มของพวกเราให้จงได้ เพราะทุกคน คือ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่ช่วยสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์หัตถกรรม อันเป็นมรดกล้ำค่าของบรรพบุรุษให้คงอยู่ และการพัฒนาฝีไม้ลายมือของพวกเราทุกคนในครั้งนี้ เป็นเครื่องหมายอันแสดงให้เห็นถึงการร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี” เป็นกำลังหลักส่งเสริมแผ่ขยายผ้าไทยให้คู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืนสืบไป
สำหรับ ในช่วงบ่ายเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา โดยผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิ การสาธิตการสาวไหมแบบโบราณ การสาธิตย้อมสีธรรมชาติ การพัฒนาช่องทางการตลาด และการออกแบบลายอัตลักษณ์ประจำถิ่น เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นงานสนองตอบความต้องการของตลาด สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน