THAI NEWS

โดย กองบรรณาธิการ M2F

08 พฤษภาคม 2565 : 11:00 น.

สระบุรี-ชาวบ้านแก่งคอย-มวกเหล็ก ลุกฮือค้านการต่ออายุเหมืองปูนชี้ครม.ผ่อนผันพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A,1B ที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าอาศัย มีวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ และพระนามาภิไธยของ ร.5

ดร.เรืองเกียรติ สุวรรณโนภาส ประธานองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรป่ามิตรภาพ และแกนนำกลุ่มคัดค้านเหมืองหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปิดเผยถึงปัญหาการทำเหมืองหินและโรงฟ้าถ่านหิน จ.สระบุรี ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ว่า เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่อนผันในการขอต่ออายุเหมืองปูนของ บริษัทปูนดังในพื้นที่ เมื่อประมาณปี 2562 ทางกลุ่มได้คัดค้านไปแล้วสิ่งที่ชาวบ้านคัดค้านคือ การขอต่ออายุสัมปทาน ที่ผ่านมาเหมืองปูนดังกล่าวไม่เคยฟื้นฟูพื้นที่ป่า นอกจากนี้ชุดที่ขอมีแปลงใหม่แอบแฝงเข้าไปด้วย เป็นแปลงที่ละเมิดบุกรุกไปยังพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตไว้จนกระทั่งทางการมีการจับกุม และพบว่ามีการขนแร่อื่นๆออกจากพื้นที่ด้วย

“เรากลัวว่าเรื่องนี้จะเป็นการทำผิดให้เป็นถูก เราจึงได้คัดค้าน เริ่มจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่สนามกีฬามวกเหล็กรวมทุกหมู่บ้าน ก็มีการล้มเวทีชาวบ้านไม่เอาด้วยกับโรงปูน หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 เดือนก็มีการจัดใหม่โดยการทำประชาพิจารณ์แบบแยกหมู่ จัดทำในยามวิกาล  ผมและชาวบ้านได้ออกไปคัดค้าน ฝ่ายตรงข้ามมีการพกพาอาวุธเข้าไป ชาวบ้านไล่จับการ์ด ของบริษัทฯแล้วส่งไปที่โรงพักๆก็ไม่ยอมนำเข้าห้องขัง คนของผมก็ต้องตามไปถึงโรงพัก” ดร.เรืองเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ จนกระทั่งกลางปีที่ผ่านมา จึงมีมติครม.ผ่อนผัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A 1B ทำให้พวกชาวบ้านไม่ยอม และได้ข่าวว่าทางบริษัทฯได้ประสานไปทาง ต.ทับกวาง ซึ่งเหมืองมีพื้นที่ทั้งหมดติดต่อระหว่าง อ.แก่งคอยกับ อ.มวกเหล็ก ที่อ.แก่งคอยนั้นจะมีหมู่ 10 วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ถ้ำแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีการอนุรักษ์จากกรมศิลปากร ตรงนี้จากเดิมมีระยะห่างจากเหมือง 2 กิโลเมตร แต่ตอนนี้เหลือ 500 เมตร ไม่ทราบว่ากินพื้นที่เข้ามาได้อย่างไร เพราะเหมืองกระจายออกมาหมด พื้นที่แถวนี้อุดมสมบูรณ์มาก อีกทั้งวัดถ้ำฯ แห่งนี้ รัชกาลที่ 5 เคยทรงเสด็จประพาส ข้างบนเขาเป็นศิลา มีพระนามาภิไธย ของรัชกาลที่ 5 มีการอนุรักษ์ไว้ และมีภาพสลักนูนต่ำสมัยทวาราวดี อายุประมาณ 3,000 ปี อีกทั้งภูเขาบริเวณนั้นสวยงามมาก  อุดมไปด้วยสัตว์ป่า พืชพรรณนานาชนิดที่หายาก ที่สำคัญคือ มีถ้ำลำพูทอง เป็นถ้ำยาวที่สุดของพื้นที่ภาคกลางประมาณ 4 กิโลเมตร เชื่อมจากบริเวณหมู่ 3 ต.มิตรภาพ กับหมู่ 10 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย

ดร.เรืองเกียรติ กล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็น Buffer Zone ติดกับเขตเขาใหญ่ สมัยก่อนไม่มีฝุ่นเลยอากาศเย็น แต่ทุกวันนี้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4-5 องศา เคยเจาะน้ำบาดาลลงไปประมาณ 10 กว่าเมตร แต่ปัจจุบันต้องเจาะลงไป 50 - 60 เมตรเนื่องจาก เหมืองนำน้ำไปใช้หมด ขณะที่ลำน้ำมวกเหล็กลงไปสู่น้ำตกมวกเหล็ก และน้ำตกเจ็ดสาวน้อยน้ำก็เริ่มแห้งถ้าฝนไม่ตก ชาวบ้านจึงต้องออกมาป้องกันเคลื่อนไหว ไม่ให้เป็นการทำลายธรรมชาติรอบรอบตัวเรา พื้นที่บริเวณนี้ถือว่าอุดมสมบูรณ์ มีทั้งเลียงผา กระทิงและสัตว์ป่า ดังนั้น ตามที่รัฐบาลอนุมัติ เพื่อการพัฒนาประเทศและอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แห้งแล้งรกร้างว่างเปล่าถูกทอดทิ้งนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่ ทุกวันนี้เหมืองเริ่มขยับเข้ามายังพื้นที่นี้อีก นอกจากแปลงที่ขอเดิมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ บริเวณโรงปูน มีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 7 โรง รวมประมาณ 440 เมกกะวัตต์  5 ปีที่ผ่านมาเราพบว่า มีปัญหาเรื่องเหมือง และมีการจัดเวทีรับฟัง พอเราจะเข้าไป กลับไปเจอเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ ที่สำคัญคือแอบสร้างเกือบเสร็จแล้ว เราต้องไล่ตรวจสอบข้อมูล จึงได้สอบถามไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด หลังจากที่เราทำหนังสือคัดค้าน และร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่เวลาทำรายงานผลกระทบทางบริษัทฯกลับใช้ค่าวัดมลพิษจาก อ.ท่าลาน ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ๆตั้งโรงงาน ผลของการวัดค่าในภาวะที่ลมสงบสามารถไปไกลได้ถึง 25 กม. ทิศทางลม 4 เดือน ไปทาง ตลาดมวกเหล็ก อีก 8 เดือนเข้าสระบุรีและกรุงเทพฯ จึงเป็นที่มาของฝุ่น PM 2.5 

“สิ่งที่เกิดจากเหมืองปูนและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก่อให้เกิดมลพิษ ฝุ่นละออง สารพิษตกค้าง ไปทั่วบริเวณ เกิดปัญหาสุขภาพ ด้านระบบทางเดินหายใจ ปอด และมะเร็ง อีกทั้งยังมีผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงโคนม และอาชีพทางการเกษตร การปลูกผักปลอดสารพิษ  และกระทบการท่องเที่ยว เนื่องจากสารพิษดังกล่าวได้กระจายไปยังแปลงผัก แปลงหญ้า ลงไปยังดิน และน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค ในระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและรัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อุตสาหกรรมเหมืองปูนและโรงไฟฟ้า จึงเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวิตของสัตว์ป่า สัตว์ป่าหลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ นอกจากนั้นยังทำลายวิถีชุมชน และด้านสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุนของอุตสาหกรรมดังกล่าว” ดร.เรืองเกียรติ  กล่าว

ประธานองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรป่ามิตรภาพ กล่าวด้วยว่า  ขอเชิญพี่น้องชาวมวกเหล็ก , มิตรภาพ , ปากช่องและพญาเย็น และประชาชนทุกท่าน ออกมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ร่วมทำประชาพิจารณ์ คัดค้านการทำเหมืองปูน โดยมีกำหนดการดังนี้ 

วันที่ 8  พ.ค. 65 หมู่ที่ 7 บ้านไทรงาม ต. มิตรภาพ

วันที่ 8 หมู่ 5 ต.ทับกวาง อ. แก่งคอย

วันที่ 9 พ.ค. 65  หมู่ที่ 8 บ้านคลองระบัง ต. มิตรภาพ

วันที่ 10 พ.ค 65 หมู่ที่ 10 บ้าน อมรศรี  ต.มิตรภาพ

วันที่ 11 พ.ค. 65 หมู่ที่ 3 ต.มิตรภาพ

วันที่ 12 พ.ค. 65 หมู่ที่ 4 บ้านซับพริก

วันที่ 13 หมู่ที่ 2 บ้านคั่นตะเคียน

วันที่ 15  หมู่ 10 บ้านน้ำพุ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย

วันที่ 17  หมู่  บ้านไทย ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย

หมายเหตุ ช่วงเวลาประชาพิจารณ์แต่ละหมู่บ้านในแต่ละวันเป็นไปตามประกาศของทางบริษัทที่แนบมาด้วย

ข่าวเด่น

ข่าวที่น่าสนใจ