มหาสาคราม-พช.ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน บจก.ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดมหาสารคาม (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมช่องทางการตลาดเพื่อรายได้ให้เกษตรกร
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) มอบหมายให้นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนายร่องกี้ พลเยี่ยม ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุวัฒน์ ชำนาญกิจ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย น.ส.ฉัตรประอร นิยม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม นายวสันต์ ชิงชนะ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 12 นางสงวน มะเสนา ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 13 ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานและให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีมหาสารคาม(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ คณะมะ พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้อำนวยการกลุ่มงานทุกกลุ่ม และนักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม ให้การต้อนรับ
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า การลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทประชารัฐ ฯ และศึกษาข้อมูลกลุ่มเกษตรกรร่วมกับคณะทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ในครั้งนี้ บริษัทประชารัฐฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริมช่องทางการตลาด รวมถึงดำเนินการประสานงานกับส่วนราชการ และภาคเอกชน ในด้านต่างๆ ทำให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิตสินค้าแปรรูป มีช่องทางการจัดจำหน่าย รวมถึงการส่งออกสินค้า ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรได้มากยิ่งขึ้น ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความยั่งยืน
“กลุ่มทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านงัวบา หมู่ที่ 1 ต.งัวบา อ.วาปีปทุม บริษัทประชารัฐฯ ได้ช่วยส่งเสริมช่องทางการตลาดและจัดซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเฉลี่ยกว่า 100,000บาท/ปี ขณะที่กลุ่มผู้ปลูกมันแกวและไชเท้า บ้านพงโพด หมู่ที่ 5 และบ้านพงโพด หมู่ที่ 5 บ้านพงสว่าง หมู่ที่ 10 ต.หนองสิม อ.บรบือ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP และได้มีการประสานฝ่ายการตลาดบริษัทแม็คโคร เพื่อสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผ่านบริษัทประชารัฐฯ ส่วนกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ผู้ปลูกมะม่วงมหาชนก บ้านเหล่าค้อใหม่ หมู่ที่ 12 ต.ปอพาน อ.นาเชือก บริษัทประชารัฐได้ช่วยเหลือและสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถส่งออก และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในการรับซื้อมะม่วงมหาชนกกระจายสินค้าสู่ประชารัฐจังหวัดในภาคใต้ ทำให้เกษตรกรฟื้นตัว ขายได้ในราคาที่สูงกว่าพ่อค้าคนกลางไปรับซื้อ อีกทั้งยังส่งเสริมประชาสัมพันธ์ผลผลิตด้านการเกษตรให้เป็นที่รู้จักสู่สาธารณชนมากยิ่งขึ้นผ่านการประกวด Misterglobal International ที่ใช้เวทีของจังหวัดมหาสารคามเป็นสถานที่ประกวด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ได้มีการเผยแพร่และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น” รองอธิบดีพช.กล่าว