อุบลราชธานี-มหาดไทยน้อมนำแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ้าไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) การอบรมเชิงปฏิบัติการที่จังหวัดอุบลราชธานี จุดที่ 1 โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อาจารย์มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) พ.ศ. 2564 ดร.ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกและผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เรียร์เตอร์ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกและนักออกแบบแบรนด์ Wisharawish (Workshop) ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมในพิธี
นายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับอาจารย์มีชัย แต้สุจริยา ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และพี่น้องผู้ประกอบการทอผ้าทุกคนที่ได้ร่วมกันมุ่งมั่น ทุ่มเท สนองแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยให้ดำรงไว้ในแผ่นดิน และใช้ภูมิปัญญาผ้าไทยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งกว่าร้อยละ 80 คือพี่น้องเกษตรกร ให้ได้มีโอกาสที่ดีของชีวิต ใช้ความสามารถ ใช้ภูมิปัญญาเพื่อเพิ่มพูนรายได้ อันเป็นผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและทำให้สังคมไทยของเราเป็นสังคมที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ อันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่หลากหลายและทรงคุณค่า ไม่ให้สูญหายมลายไป
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำพระดำริและคำแนะนำที่ได้พระราชทานในการเสด็จทรงงานด้านผ้าไทยในโอกาสต่าง ๆ มาเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไทย ทั้งมิติต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาพระทัยใส่เรื่องความยั่งยืนทั้งต่อชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมในโลกใบนี้ของเรา โดยสิ่งที่จะทรงตรัสอยู่เสมอ คือ การใช้ผลิตภัณฑ์ในการผลิตผ้าที่เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับกลุ่ม ให้กับครอบครัว ด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ผลิตวัตถุดิบในการทำผ้าด้วยตนเอง อันสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยากเห็นคนไทยได้ยึดถือน้อมนำเอาหลักคิดหลักปฏิบัติ เพื่อลดรายจ่ายและเป็นหลักประกันในเรื่องความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่มของประเทศที่จะเป็นแนวคิดที่สำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ถึงรุ่นเหลนของพวกเราทุกคน
นอกจากนี้ สิ่งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานเพื่อความยั่งยืนอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ช่วยกันปลูกต้นไม้ใบหญ้าที่ให้สีธรรมชาติเอาไว้ใช้เพิ่มมากขึ้น โดยพระราชทานพระดำริในการรวบรวมสูตรการผสมสีผ้า ซึ่งเป็นพระปรีชาในการส่งเสริมการลดโลกร้อนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ธรรมชาติ ตามแนวคิดนานาประเทศ ที่มีคำกล่าวว่า “No Plan B because Only One Planet : เรามีแผนเดียว คือ แผน A ไม่มีแผน 2 ด้วยการช่วยกันไม่ทำให้โลกของเราเจ็บป่วยจากการใช้ชีวิตและการทำมาหากินของพวกเรา” ซึ่งถือเป็นส่วน “ต้นน้ำ” สำหรับในส่วนกลางน้ำได้พระราชทานแนวทางในการเลือกใช้วัตถุดิบ การดูแลเครื่องไม้เครื่องมือ กี่ทอผ้า ที่จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไม่วิจิตรสวยงาม ทั้งทรงทุ่มเทในเรื่องการคาดการณ์แนวโน้มแฟชั่นโลก ด้วยการรวบรวมเฉดสี จัดพิมพ์เป็นหนังสือ Textbook โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อันเป็นประโยชน์ในการเผยแพร่ให้พี่น้องผู้ทอผ้าได้รู้จักการเลือกใช้สีลวดลาย ที่ประยุกต์ลวดลายเก่าที่ทรงคุณค่าของบรรพบุรุษ มาต่อยอดดัดแปลง เพิ่มเติม ปรับปรุง เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระมหากรุณาที่เห็นเป็นรูปธรรมจนเป็นที่นิยมชมชอบของคนไทยในปัจจุบัน นั่นคือ การพระราชทานแบบลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทำให้เกิดการสร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้ประกอบการทอผ้าในทุกถิ่นที่ชนบทห่างไกล รวมถึง “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ที่เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระปณิธานอันแน่วแน่ว่าทรงมีพระหทัยที่ผูกพัน ทรงรักพสกนิกรชาวไทยของพระองค์ ด้วยการมุ่งมั่นสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก่อเกิดเป็นแนวทางขับเคลื่อน “ปลายน้ำ” ผ่านการพระราชทานโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ให้กับคนไทย ซึ่งมีความสำคัญในการส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัย สวมใส่ผ้าไทยในทุกโอกาส ทุกเทศกาล โดยทรงดึงนักออกแบบชื่อดังที่มีความสามารถด้านการออกแบบผ้าไทย มาร่วมสนองงานพระดำริ ด้วยการแนะนำเทรนสมัยใหม่ให้กับผู้ประกอบการผ้าได้พัฒนาฝีไม้ลายมือทักษะ ออกแบบ ตัดเย็บให้มีความร่วมสมัย หลากหลาย ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่จะส่งผลต่อการผลิตที่สอดรับกับความต้องการ ซึ่งหากพวกเราออกแบบผ้าเป็นที่ต้องการของตลาดของคนสวมใส่ สิ่งที่นอกเหนือจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจของผู้ทอผ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากพระดำริของพระองค์ที่ได้พระราชทานให้กับช่างทอผ้าอย่างครบวงจรด้วยการ “ทำโดยผู้รู้จริง ยึดเป็นอาชีพที่ประสบความสำเร็จจริง แล้วจะเกิดสิ่งที่ดีเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ขอให้พวกเราทุกคนตั้งใจรับสิ่งที่วิทยากรนำมามอบให้ ด้วยการตริตรอง ทบทวน และทำตาม ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเน้นเรื่องสีธรรมชาติ ไม่ใช้สีเคมี ทบทวนดูว่าลวดลาย แบบผ้าที่บรรพบุรุษปู่ย่าตายายตกทอดมาให้ สามารถสอดแทรก ปรับลวดลายให้ทันสมัย ดังที่พระองค์ท่านทรงทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีข้อห้าม ไม่มีผิดถูก มีแต่จะพัฒนาเพิ่มพูนผลิตภัณฑ์ที่ดี ๆ ของเราเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันในแง่ของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทรงซ่อนไว้ในแบบลายผ้าพระราชทาน คือ ประวัติ เรื่องราว ที่มา (Story) อันเป็นตัวอย่างที่พวกเราได้รวบรวมรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เนื้อหาคุณค่าของวัตถุดิบ ช่างทอผ้า หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด มาเป็นเรื่องราวของชิ้นงานเพื่อเสริมให้ผลิตภัณฑ์ผ้ามีคุณค่าและเป็นที่สนใจ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเรามีความสุขในการได้น้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และห้วงเวลาหลังจากนี้เป็นต้นไปเราจะมีความสุขเพิ่มมากขึ้นและเป็นความสุขที่เปี่ยมไปด้วยพลังที่เป็นความหวังว่าลูกหลานเราจะมีอนาคตที่ดี เพราะเราจะได้ช่วยกันในการประกอบสัมมาอาชีพและมีอาชีพเสริมงานยามว่าง ด้วยการทำตามที่พระองค์ท่านทรงแนะนำว่า ให้ใช้ชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้าย ไม่ทำลาย ประเพณีวัฒนธรรม ไม่ทำลายแม่พระธรณีด้วยการเทสีเคมีลงไปในดิน ไม่ทำร้ายลูกหลานด้วยการทำให้ลูกหลานของเราขาดตัวอย่างที่ดีของการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และใช้พลังในตัวเราสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยน้ำมือของตัวเราและถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน อันเป็นการสนองพระดำริในการขับเคลื่อน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และเจตนารมณ์ของทางราชการ อันประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน จังหวัดต่าง ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวพันเกี่ยวข้อง ที่ตั้งใจในการที่จะปรับกระบวนการทำงาน เพื่อให้งานของราชการเกื้อกูลกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้า อย่างได้ผลดี และคำนึงถึงความยั่งยืนโดยแท้ตลอดไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
ด้าน นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) จัดทำขึ้นเพื่อสนองแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้า พร้อมทั้งเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและสิ่งทอ ต่อยอดการพัฒนาลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตลอดจนเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย และเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย สามารถนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน